วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 204 : กรรมการรายหนึ่งของผู้เอาประกันภัยต้องคดีอาญา ถือเป็นสาระสำคัญที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง (Material Fact Disclosure) หรือไม่? และจะส่งผลกระทบความคุ้มครองอย่างไร?

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ

 

ผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้เข้าซื้ออาคารสำนักงานเก่าแห่งหนึ่ง เพื่อนำมาปรับปรุงเป็นอาคารที่พักอาศัย โดยว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาดำเนินการ พร้อมกับได้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการก่อสร้าง (Construction All Risks Insurance) กับคุ้มครองความล่าช้าในการดำเนินงาน (Delay in Start Up Insurance) เผื่อเอาไว้ด้วย

 

ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2020 โครงการก่อสร้างนี้ได้ประสบปัญหาความเสียหายเนื่องจากน้ำของระบบพรมน้ำดับเพลิงอัตโนมัติรั่วไหลออกมาระหว่างการติดตั้ง สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้บางส่วน ผู้เอาประกันภัยจึงแจ้งต่อบริษัทประกันภัยของตนเข้ามาตรวจสอบ และประเมินความเสียหาย

 

เมื่อผู้ประเมินความเสียหายได้ตรวจสอบข้อมูลของผู้เอาประกันภัยแล้ว กลับพบว่า ตอนจัดซื้อกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ผู้เอาประกันภัยละเลยแจ้งข้อความจริงประการหนึ่งที่ว่า กรรมการรายหนึ่งของผู้เอาประกันภัยได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญายังต่างประเทศ ให้แก่บริษัทประกันภัยได้รับทราบ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทประกันภัยดังกล่าวได้หยิบยกหลักความสุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith Principle) มาปฏิเสธความรับผิดของตน สำหรับเหตุการณ์ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้น เพราะเห็นว่า ข้อความจริงนั้นถือเป็นสาระสำคัญประการหนึ่ง หากได้รับทราบมาก่อน ตนอาจตัดสินใจไม่ตกลงรับประกันภัยรายนี้เลย

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ชี้แจงว่า กรรมการรายดังกล่าวไม่ได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแก่โครงการก่อสร้างนี้ ทั้งความผิดที่ได้รับโทษนั้นก็เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในธุรกิจวาณิชธนกิจ (Invest Banking Company) ซึ่งกรรมการรายดังกล่าวมีสังกัดอยู่ โดยที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ไม่ได้ล่วงรู้มาก่อน ณ เวลาทำสัญญาประกันภัย

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อตัดสินให้บริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท โดยมีประเด็นข้อพิพาทอยู่สองประเด็น กล่าวคือ

 

1) ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้กระทำหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม (fair presentation) แล้วหรือยัง?

 

2) ข้อมูลนั้นถือเป็นสาระสำคัญ (material circumstance) ที่จะส่งผลในการตัดสินใจที่จะรับ หรือไม่รับประกันภัยนั้นหรือไม่?

 

เนื่องด้วยภายใต้พระราชบัญญัติประกันภัยแห่งประเทศอังกฤษ ค.ศ. 2015 ได้บัญญัติในประเด็นข้อพิพาทเหล่านั้นว่า

 

1) การเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม (fair presentation) นั้น หมายความถึง ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่จะต้องเปิดเผยทุกข้อมูล อันเป็นสาระสำคัญซึ่งตนได้รับรู้มา หรือควรจะได้รับรู้มา

 

2) ข้อมูลที่ถือเป็นสาระสำคัญ (material circumstance) นั้น หมายความถึง ข้อมูลที่อาจส่งผลถึงขนาดในการพิจารณาตัดสินใจของบริษัทประกันภัยทั่วไปว่า ควรจะตกลงรับประกันภัยหรือไม่? ถ้ารับ ควรจะกำหนดเงื่อนไขเช่นไรดี?

 

ศาลวินิจฉัยว่า

 

แนวคดีที่ผ่านมา ความรับผิดทางอาญาถือเป็นเป็นสาระสำคัญที่จะต้องเปิดเผย ในการประเมินการรับเสี่ยงภัยของบริษัทประกันภัย โดยไม่คำนึงว่า ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้ล่วงรู้ข้อมูลเช่นว่านั้นมาก่อนเลย หรือไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิดเช่นว่านั้นโดยตรงก็ตาม

 

ส่วนประเด็นที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ในฐานะโจทก์โต้แย้งว่า เมื่อคำนึงถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีระหว่างนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยรายนี้กับบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยคดีนี้ จำเลยก็อาจตกลงรับประกันภัยให้ก็ได้นั้น ศาลไม่รับฟัง

 

ศาลจึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยชนะคดี ไม่จำต้องรับผิด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Berkshire Assets (West London) Limited v. AXA Insurance UK plc [2021] EWHC 2689 (Comm) )

 

ข้อสังเกต

 

น่าสนใจว่า กฎหมายบ้านเราไม่ได้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนดั่งเช่นของประเทศอังกฤษ หากมีประเด็นข้อพิพาทเช่นนี้ขึ้นมาในบ้านเรา ศาลท่านจะพิจารณาเช่นไร?

 

อย่างไรก็ดี ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยควรพึงระมัดระวัง และกำชับลูกค้าของตนให้พยายามเปิดเผยข้อความจริงอย่างครบถ้วนถูกต้องจะปลอดภัยกว่า ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ใบคำขอเอาประกันภัยถูกมองข้ามไป

ยิ่งควรต้องถี่ถ้วน

 

ในคดีศึกษาต่างประเทศข้างต้น น่าติดตามต่อไปด้วยว่า แล้วยังงี้ ผู้เอาประกันภัยสามารถไปไล่เบี้ยเอากับนายหน้าประกันวินาศภัยของตนอีกทอดหนึ่งได้ไหมหนอ?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 203 : ผู้ว่าจ้างเจ้าของทรัพย์สินเดิม (Principal/Owner of Existing Property) ไล่เบี้ยเอาผิด (Cross Claim) กับผู้รับเหมางานก่อสร้างของตนเอง (Own Contractors) ได้ไหม?

 

ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาหลักให้ทำการปรับปรุงห้องครัวเดิมของตนที่มีอยู่ขึ้นมาใหม่

 

ผู้รับเหมาหลักเจ้านั้นได้มอบหมายให้ผู้รับเหมาช่วงรายหนึ่งเข้ามาทำงานด้านระบบประปาทั้งหมดแทน

 

เป็นที่มาก่อให้เกิดเหตุการณ์น้ำรั่วไหลไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอย่างกว้างขวางทั้งบริเวณจุดงานก่อสร้าง (contract site) และบริเวณอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงของศูนย์การแพทย์นั้นด้วย

 

ทำให้เกิดข้อพิพาทถกเถียงกันสามประเด็นระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาหลัก และผู้รับเหมาช่วงที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ ดังนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ซึ่งคุ้มครองตัวงานก่อสร้างนั้น จะครอบคลุมรวมไปถึงทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้าง (Principal’s Existing Property) โดยอัตโนมัติด้วยหรือไม่?

 

2) ถ้าไม่ ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นเจ้าของ และผู้เสียหาย สำหรับทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่บริเวณข้างเคียงกับงานก่อสร้างนั้น จะสามารถใช้สิทธิเอาผิดกับผู้รับเหมาหลักของตนเองได้ไหม?

 

3) ถ้าได้ ผู้รับเหมาหลักจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาผิดแก่ผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิดอีกทอดหนึ่งได้ไหม?

 

คุณมีความเห็นเช่นไรครับ?

 

เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาล

 

ศาลได้พินิจพิเคราะห์ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ประกอบกับพยานหลักฐานจากคู่ความที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ได้ให้ความเห็นว่า

 

ก) ผู้เอาประกันภัย

 

เนื่องด้วยผู้เอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ประกอบด้วยหลายฝ่าย กล่าวคือ ผู้ว่าจ้าง และ/หรือผู้รับเหมาหลักซึ่งถูกระบุชื่อ ส่วนผู้รับเหมาช่วงมิได้ถูกระบุชื่อไว้ แต่ก็จัดเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย ในสถานะเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาหลัก หรือของผู้ว่าจ้างก็ได้ ฉะนั้น ทุกรายจึงไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก

 

ข) ตัวงานตามสัญญาว่าจ้าง หรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่า “คุ้มครองทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง การติดตั้ง หรือทรัพย์สินอื่นดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ค) สถานที่เอาประกันภัย

 

คือ สถานที่ดำเนินงานตามที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ง) ผลวิเคราะห์คดี

 

เช่นนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังระบุไว้ในสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น โดยไม่ได้รวมถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ว่าจ้างแต่ประการใด

 

อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินอื่นที่อยู่ข้างเคียงของผู้ว่าจ้างนั้นอาจสามารถได้รับความคุ้มครองได้ด้วยการตกลงขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมโดยเฉพาะเจาะจง

 

แต่ในคดีนี้ ผู้ว่าจ้างไม่ได้ตกลงเช่นว่านั้นกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

แล้วในส่วนทรัพย์สินอื่นของผู้ว่าจ้างฝ่ายโจทก์สามารถเรียกร้องเอาผิดโดยตรงแก่ผู้รับเหมาหลัก หรือผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิดได้หรือเปล่า?

 

เมื่อภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจำกัดขอบเขตห้ามมิให้เรียกร้องความรับผิดระหว่างผู้เอาประกันภัยร่วมด้วยกันเองเอาไว้ อันมีความหมายถึงเพียงเฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ ภายในบริเวณสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น โดยมิได้มีการระบุเป็นอย่างอื่นอย่างชัดแจ้ง นั่นหมายความว่า บริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น ผู้ใดที่กระทำผิดก็จำต้องรับผิดตามกฎหมายไปตามปกติทั่วไป คงไม่เป็นการสมเหตุผลที่จะต้องกำหนดให้ผู้รับเหมาไปขยายความรับผิดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั่วทุกบริเวณของผู้ว่าจ้างด้วย อันจะเป็นการก่อให้เกิดภาระเกินกว่าราคาค่าจ้างดำเนินงานของผู้รับเหมามากเกินไป

 

จึงตัดสินให้ผู้รับเหมาหลักฝ่ายจำเลยรับผิดในฐานะตัวการต่อความเสียหายที่บังเกิดแก่ผู้ว่าจ้างตรงบริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณงานตามสัญญาว่าจ้างนั้น

 

เมื่อผู้รับเหมาหลักฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ไปแล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิด อันมีสถานะเป็นตัวแทนของตนภายหลังได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี William Osler Health Center v. Compass Construction et al, 2015 ONSC 3959 (CanLII) )

 

หมายเหตุ

 

(1) แม้คดีนี้จะไม่ได้เรียกบริษัทประกันภัยเข้ามาร่วมเป็นคู่ความด้วยก็ตาม คงไม่ได้ส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองแต่ประการใด

 

(2) เช่นเดียวกับแม้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอาจแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานบ้านเราอยู่บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ถึงขนาดทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

 

(3) กรณีที่ได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างเผื่อไว้แล้ว เพียงเป็นทางเลือกให้ผู้ว่าจ้างผู้เสียหายจะพิจารณาเลือกไปเรียกร้องเอากับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น ถ้าเลือกอย่างหลัง บริษัทประกันภัยทรัพย์สินนั้นก็สามารถรับช่วงสิทธิของผู้ว่าจ้างไปไล่เบี้ยได้อยู่ดี หรือกระทั่งเป็นกรณีเข้าเงื่อนไขการประกันภัยหลายราย จะต้องมาร่วมกันชดใช้ตามส่วนก็ตาม เพราะโดยทั่วไป การขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นมักมีวงเงินไม่สูงมากนัก

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/