เรื่องที่ 157 : ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ถือเป็นการเจ็บป่วยถึงขนาดทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ศาลต่างประเทศนั้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อถกเถียงหลักสองประเด็นตามลำดับ ดังนี้
1) ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ตกอยู่ในคำจำกัดความของการเจ็บป่วย (Sickness) ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นหรือไม่?
อันที่จริง ฝ่ายบริษัทประกันภัยมีความเห็นไปทำนองเดียวกันว่า ผู้เอาประกันภัยได้มีการเจ็บป่วยจริง เพียงแต่โต้แย้งว่า ผู้เอาประกันภัยมีความสามารถทางร่างกายกับทางจิตใจที่จะกลับไปทำหน้าที่แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินดังเดิมได้ อีกทั้งภาวะซึมเศร้าของผู้เอาประกันภัยนั้นได้มีมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่นแล้ว และก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวซึ่งเคยปฏิบัติมาแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ประการใด กรณีที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นผลเนื่องจากอาการการติดยารักษาภาวะซึมเศร้าของตนเองมากกว่า และบัดนี้ได้ถูกรักษาจนอาการกลับเป็นปกติแล้ว
2) ภาวะซึมเศร้านั้นถือเป็นทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง (Total Disability) อันจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยยอมรับว่า การที่ตนไม่กลับไปทำงานในหน้าที่เดิมนั้นด้วยเหตุผลหลักสองประการ กล่าวคือ ข้อจำกัดในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และคำแนะนำของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ให้หวนกลับไปทำงานในหน้าที่เดิมอีก
ฉะนั้น การตีความข้างต้นของฝ่ายบริษัทประกันภัย ศาลไม่เห็นพ้อง เนื่องจากถ้าจะพิจารณาให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยสามารถกลับไปทำงานหน้าที่เดิมได้อีก จะขัดแย้งกับคำแนะนำของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ให้หวนกลับไปทำงานในหน้าที่เดิมอีก ซึ่งเป็นข้อความจริงที่ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณามากกว่า
อย่างไรก็ดี ศาลเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ว่า ถ้าผลจากภาวะซึมเศร้านั้นก่อให้ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงจริง ทำไมที่ผ่านมาในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยถึงไม่เคยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Royal Maccabees Life Insurance Company v. Parker, No. 98 C 50422, September 20, 2001)
ส่วนท่านใดสนใจจะพิจารณาเทียบเคียงกรณีเช่นว่านี้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพบ้านเรา ก็จำต้องมาดูข้อกำหนด ข้อยกเว้น และเงื่อนไขที่สำคัญของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งเขียนว่า
“หมวดที่ 1 คำจำกัดความ
8. การเจ็บป่วย หมายถึง อาการ ความผิดปกติ การป่วยไข้หรือการเกิดโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับความคุ้มครอง
หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด
19. สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition)
บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ สำหรับโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) ที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้เริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก เว้นแต่
19.1 ผู้ได้รับความคุ้มครองได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัยโดย ไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ
19.2 กรมธรรม์ประกันภัยนี้ มีผลบังคับต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษาหรือวินิจฉัยโดยแพทย์หรือไม่ได้พบหรือปรึกษาแพทย์ ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้ เริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก
หมวดที่ 3 ข้อยกเว้นทั่วไป
10. การตรวจรักษา อาการ หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ โรคทางจิตเวช หรือทางพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพ รวมถึงสภาวะสมาธิสั้น ออธิสซึม เครียด ความผิดปกติของ การกิน หรือความวิตกกังวล”
เชิญทดลองดูได้นะครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น