วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 158 : การฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Computer Fraud) มีความหมายมากกว่าการแค่เพียงใช้คอมพิวเตอร์กระทำการ?

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์คดีนี้ว่า

 

เมื่อพิจารณาประเด็นถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทตรงที่เขียนว่า

 

ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ เพื่อทำการหลอกลวงให้โอนทรัพย์สินเช่นว่านั้นไปจากสถานที่เอาประกันภัย หรือที่ทำการของธนาคาร (resulting directly from the use of any computer to fraudulently cause a transfer of that property from inside the premises or banking premises)

 

โดยที่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยอ้างว่า ถ้อยคำนี้ตีความได้ความหมายว่า มีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ ซึ่งมิใช่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ในการก่อให้เกิดการโอนเงินโดยหลอกลวงฉ้อฉล

 

ขณะที่ศาลอุทธรณ์กลับเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการดำเนินธุรกรรมเกือบแทบทุกธุรกิจ ถ้าแปลความหมายของถ้อยคำนี้ให้คุ้มครองถึงการโอนเงินทุกอย่างว่า ต้องเกี่ยวข้องกับทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ และการหลอกลวงฉ้อฉลบางจุดของการทำธุรกรรมนั้น ก็จะส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ฉบับพิพาทกลับกลายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการฉ้อฉลหลอกลวงทั่วไป

 

คดีนี้ การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเพียงการใช้อีเมลแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับชำระเงินของคู่ค้า โดยแนบสำเนาจดหมายมาด้วย ครั้นเมื่อทางเจ้าหน้าที่ของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้โทรศัพท์เข้าไปยังหมายเลขที่คนร้ายจัดพิมพ์ไว้ตรงหัวจดหมายฉบับปลอมนั้น แทนที่จะโทรศัพท์กลับไปยังหมายเลขเดิมของคู่ค้าที่เคยใช้ติดต่อกัน ซึ่งถ้าได้กระทำเช่นนั้น หรือใช้กรรมวิธีการตรวจสอบอื่นอย่างระมัดระวังแล้ว เชื่อว่า ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยคงจะไม่ยินยอมเปลี่ยนแปลงข้อมูลการรับชำระเงินให้แน่

 

การใช้อีเมลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการ อันก่อให้เกิดการโอนเงินโดยผู้มีอำนาจกระทำการเท่านั้น การติดต่อสื่อสารด้วยการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กับระบบโทรศัพท์นั้นมีความยากลำบากในการขีดเส้นแบ่งกั้นมาก (ศาลอุทธรณ์มิได้กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นตรงนี้) แต่ได้วินิจฉัยว่า ถ้อยคำดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทเพียงคุ้มครองถึงความเสียหาย อันเป็นผลโดยตรงจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ มิใช่จากการได้รับอีเมลโดยหลอกลวงฉ้อฉล ฉะนั้น การใช้อีเมลโดยหลอกลวงฉ้อฉลจึงมิใช่เป็นการก่อให้เกิดผลโดยตรงของการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังที่กำหนดไว้นั้นเอง เนื่องจากการโอนเงินนั้นเกิดขึ้นมาจากโอนเงินของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจกระทำการ

 

จึงพิพากษากลับให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ยกสองคดีพลิก

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Apache Corp. v. Great American Ins. Co., No 15-20499 (5th Cir. Oct. 18, 2016))

 

อย่างไรก็ดี คำพิพากษาคดีนี้ก่อให้เกิดความเห็นแตกต่างมากมาย รวมทั้งแนวคำพิพากษาในคดีอื่นด้วย โปรดติดตามต่อสัปดาห์หน้า

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 


วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 158 : การฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Computer Fraud) มีความหมายมากกว่าการแค่เพียงใช้คอมพิวเตอร์กระทำการ?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ยุคสมัยไซเบอร์นี้ เราคงพอคุ้นกับคำว่า “Phishing” อันเป็นกลวิธีหนึ่งของแฮกเกอร์ที่ใช้จู่โจมลวงล่อให้เหยื่อหลงเชื่อทางอินเทอร์เน็ต โดยสามารถจัดแบ่งออกได้เป็นหลากหลายรูปแบบ เช่น Spear Phishing ซึ่งเป็นการโจมตีแบบเจาะจงเหยื่อเป้าหมาย จะเหมือนดั่งในตัวอย่างคดีศึกษาที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้หรือเปล่า? มาลองพิจารณาดูกันนะครับ

 

บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติแห่งหนึ่งของต่างประเทศซึ่งมีสาขาอยู่ในหลากหลายประเทศ วันหนึ่งได้มีโทรศัพท์เข้ามาสาขาแห่งหนึ่งอ้างว่า เป็นคู่ค้าที่ประสงค์จะขอแจ้งเปลี่ยนแปลงบัญชีธนาคารรับชำระเงินใหม่ เนื่องด้วยตามระเบียบปฏิบัติของบริษัทนั้นคงไม่สามารถดำเนินการให้ได้ เว้นแต่จะได้รับหนังสือเป็นทางการจากคู่ค้ารายนั้นเสียก่อน

 

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีหนังสือเป็นทางการปรากฏมีหัวกระดาษระบุชื่อบริษัทของคู่ค้านั้นอย่างถูกต้องติดตามมาแนบมาให้ทางอีเมล เพื่อความแน่ใจ พนักงานประจำสาขาแห่งนั้นได้โทรศัพท์กลับไปยังหมายเลขที่ปรากฏอยู่ในหนังสือฉบับนั้น เพื่อขอคำยืนยันอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้รับฟังคำยืนยันแล้วจึงได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลง พร้อมทั้งจัดการโอนเงินที่ถึงกำหนดชำระพอดีเข้าไปยังบัญชีใหม่นั้นให้ด้วยเป็นจำนวนเงินรวมเจ็ดล้านเหรียญสหรัฐ

 

โชคดียังพอมีอยู่บ้าง ถัดไปอีกหนึ่งสัปดาห์ คู่ค้าตัวจริงรายนั้นได้ติดตามทวงถามการชำระเงิน ถึงตอนนั้น สาขาบริษัทนั้นเพิ่งรู้ตัวว่า ถูกหลอกแล้ว ได้พยายามระงับการสั่งจ่ายเงินนั้นกลับคืนมาได้เพียงบางส่วนกว่าครึ่งหนึ่ง

 

ด้วยความที่บริษัทแห่งนี้ได้จัดทำประกันภัยที่เรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Computer Fraud Insurance)” เอาไว้แล้ว จึงได้นำเรื่องแจ้งเพื่อเรียกร้องจำนวนเงินที่สูญเสียไปนั้นจากบริษัทประกันภัยของตน

 

โดยข้อตกลงคุ้มครองได้ระบุว่า

 

บริษัทจะชดใช้ความสูญเสีย และความสูญเสียอันเนื่องจากความเสียหายต่อเงิน หลักทรัพย์ และทรัพย์สินอื่นที่เอาประกันภัยไว้ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ใด ๆ เพื่อทำการหลอกลวงให้โอนทรัพย์สินเช่นว่านั้นไปจากสถานที่เอาประกันภัย หรือที่ทำการของธนาคาร เพื่อไปยังบุคคลรายอื่นใด หรือสถานที่แห่งอื่นใดที่อยู่นอกสถานที่เอาประกันภัย

 

บริษัทประกันภัยนั้นปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่า ความสูญเสียนั้นมิได้เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์กระทำการฉ้อฉล หรือการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อหลอกลวงให้โอนเงินแต่ประการใด

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงจำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ยกแรก ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยชนะคดี

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยอุทธรณ์

 

ยกสอง

 

คุณจะลุ้นฝ่ายใดครับ?

 

อดใจรอติดตามต่อตอนหน้าอีกเช่นเคย

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

 

 

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 157 : ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ถือเป็นการเจ็บป่วยถึงขนาดทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงหรือไม่?

 

(ตอนที่สอง)

 

ศาลต่างประเทศนั้นได้วินิจฉัยประเด็นข้อถกเถียงหลักสองประเด็นตามลำดับ ดังนี้

 

1) ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ตกอยู่ในคำจำกัดความของการเจ็บป่วย (Sickness) ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นหรือไม่?

 

อันที่จริง ฝ่ายบริษัทประกันภัยมีความเห็นไปทำนองเดียวกันว่า ผู้เอาประกันภัยได้มีการเจ็บป่วยจริง เพียงแต่โต้แย้งว่า ผู้เอาประกันภัยมีความสามารถทางร่างกายกับทางจิตใจที่จะกลับไปทำหน้าที่แพทย์ประจำห้องฉุกเฉินดังเดิมได้ อีกทั้งภาวะซึมเศร้าของผู้เอาประกันภัยนั้นได้มีมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่นแล้ว และก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวซึ่งเคยปฏิบัติมาแล้วชั่วระยะเวลาหนึ่งแต่ประการใด กรณีที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นผลเนื่องจากอาการการติดยารักษาภาวะซึมเศร้าของตนเองมากกว่า และบัดนี้ได้ถูกรักษาจนอาการกลับเป็นปกติแล้ว

 

2) ภาวะซึมเศร้านั้นถือเป็นทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง (Total Disability) อันจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ฝ่ายผู้เอาประกันภัยยอมรับว่า การที่ตนไม่กลับไปทำงานในหน้าที่เดิมนั้นด้วยเหตุผลหลักสองประการ กล่าวคือ ข้อจำกัดในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และคำแนะนำของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ให้หวนกลับไปทำงานในหน้าที่เดิมอีก

 

ฉะนั้น การตีความข้างต้นของฝ่ายบริษัทประกันภัย ศาลไม่เห็นพ้อง เนื่องจากถ้าจะพิจารณาให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยสามารถกลับไปทำงานหน้าที่เดิมได้อีก จะขัดแย้งกับคำแนะนำของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ให้หวนกลับไปทำงานในหน้าที่เดิมอีก ซึ่งเป็นข้อความจริงที่ถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณามากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ศาลเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ว่า ถ้าผลจากภาวะซึมเศร้านั้นก่อให้ตกเป็นบุคคลทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงจริง ทำไมที่ผ่านมาในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ผู้เอาประกันภัยถึงไม่เคยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Royal Maccabees Life Insurance Company v. Parker, No. 98 C 50422, September 20, 2001)

 

ส่วนท่านใดสนใจจะพิจารณาเทียบเคียงกรณีเช่นว่านี้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพบ้านเรา ก็จำต้องมาดูข้อกำหนด ข้อยกเว้น และเงื่อนไขที่สำคัญของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งเขียนว่า

 

หมวดที่ 1  คำจำกัดความ

 

8.  การเจ็บป่วย หมายถึง อาการ ความผิดปกติ การป่วยไข้หรือการเกิดโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับความคุ้มครอง

 

หมวดที่ 2  เงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด

 

19.  สภาพที่เป็นมาก่อนการเอาประกันภัย (Pre-existing Condition)

       บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้  สำหรับโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) ที่ยังมิได้รักษาให้หายก่อนวันที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้เริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก เว้นแต่

       19.1  ผู้ได้รับความคุ้มครองได้แถลงให้บริษัททราบและบริษัทยินยอมรับความเสี่ยงภัยโดย ไม่มีเงื่อนไขยกเว้นความคุ้มครองดังกล่าว หรือ

       19.2  กรมธรรม์ประกันภัยนี้ มีผลบังคับต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยโรคเรื้อรัง การบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วย (รวมถึงภาวะแทรกซ้อน) นั้น ไม่ปรากฏอาการ ไม่ได้รับการตรวจรักษาหรือวินิจฉัยโดยแพทย์หรือไม่ได้พบหรือปรึกษาแพทย์ ในระยะ 5 ปีก่อนวันที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้ เริ่มมีผลบังคับเป็นครั้งแรก

 

หมวดที่ 3  ข้อยกเว้นทั่วไป    

 

10.  การตรวจรักษา อาการ หรือโรคที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะทางจิตใจ โรคทางจิตเวช หรือทางพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพ รวมถึงสภาวะสมาธิสั้น ออธิสซึม เครียด ความผิดปกติของ การกิน หรือความวิตกกังวล

 

เชิญทดลองดูได้นะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 157 :  ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ถือเป็นการเจ็บป่วยถึงขนาดทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงหรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ข่าวจากกรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2565 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเรื่องนี้ ดังนี้

 

รายงาน Our World in Data โดย Institute for Health Metrics and Evaluation ศึกษาภาระโรคระดับโลก ประเมินว่า ในปี 2017 ก่อนเกิดโควิดเป็นเวลา 2 ปี ผู้คนกว่า 792 ล้านคนกำลังประสบกับปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งคิดเป็น 10.7% ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็น โรคซึมเศร้า กว่า 32.7% หรือ 3.4% จากประชากรทั้งหมด ถือว่ามากเป็นอันดับที่ 2 รองจาก รองจากภาวะวิตกกังวล ซึ่งอยู่ที่ 35.5% หรือคิดเป็น 3.8% จากประชากรทั้งหมด

 

ข้อมูลจากโรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า “ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder หรือ Depressive episode) และ โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้ 

 

กอปรกับที่ได้มีโอกาสอ่านเจอตัวอย่างแนวคดีศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศ เห็นว่า น่าสนใจ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพฉบับพิพาท มีประเด็นข้อถกเถียงหลักสองประเด็น กล่าวคือ

 

1) ภาวะซึมเศร้า (Clinical Depression) ตกอยู่ในคำจำกัดความของการเจ็บป่วย (Sickness) ดังที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นหรือไม่?

 

เมื่อมีคำจำกัดความดังกำหนดที่ถอดความเป็นภาษาไทยออกมาว่า

 

การเจ็บป่วย หมายความถึง การเจ็บป่วย โรคภัยไข้เจ็บ หรือภาวการณ์ตั้งครรภ์ ที่ซึ่ง

 

ก) ได้แสดงอาการขึ้นมาเป็นครั้งแรกในระหว่างระยะเวลาประกันภัย หรือ

 

ข) ได้เริ่มต้นมีมาก่อนวันที่ออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ และได้แถลงให้รับทราบแล้วในวันที่ขอเอาประกันภัย

 

การแสดงอาการนั้น หมายความถึง การปรากฏอาการให้ผู้เอาประกันภัยรับรู้ว่า ในมุมมองของคนทั่วไปควรจะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยแล้ว 

 

2) ภาวะซึมเศร้านั้นถือเป็นทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง (Total Disability) อันจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ส่วนทุพพลภาพโดยสิ้นเชิง หมายความถึง “อุบัติเหตุ หรือการเจ็บป่วยซึ่งส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการทำงานตามอาชีพประจำของตนได้อีกต่อไป อาชีพประจำในที่นี้ คือ อาชีพประจำของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นอยู่ ณ เวลาที่เริ่มเกิดภาวะทุพพลภาพนั้นขึ้นมา

 

ตัวผู้เอาประกันภัยรายนี้ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ประจำห้องฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1986 โดยได้มาทำประกันภัยสุขภาพฉบับพิพาทเริ่มต้นคุ้มครองมานับแต่วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1986 เรื่อยมา

 

ครั้นปี ค.ศ. 1994 ผู้เอาประกันภัยรายนี้ถูกตรวจพบมีภาวะซึมเศร้า ซึ่งได้มีมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นแล้ว และได้พยายามให้ยารักษาอาการด้วยตนเองเสมอมาจนกระทั่งเกิดอาการติดยาในท้ายที่สุด แต่ก็ได้นำตัวเองเข้าทำการบำบัดอาการติดยาในสถานบำบัด จนอาการดีขึ้น ได้ถูกปล่อยตัวให้ออกมาทำงานได้ตามปกติ เพียงแต่ยังจำต้องไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นครั้งคราว ถึงกระนั้น ก็ได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ไม่ควรกลับไปทำงานเป็นแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินอีก

 

ล่าสุด ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ชั่วคราวในศูนย์บริการดูแลรักษาสุขภาพของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

 

นับตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1996 เป็นต้นมา ผู้เอาประกันภัยรายนี้ก็ไม่ได้หวนกลับไปใช้สารเสพติดนั้นอีก พร้อมกับปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ด้วยดีเสมอมา จนร่างกายกลับมาอยู่ในสภาวะปกติในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1999

 

อย่างไรก็ดี ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ทำหนังสือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนกรณีทุพพลภาพถึงบริษัทประกันภัยเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสิบสี่เดือน ภายหลังจากที่ได้เข้าทำการตรวจวินิจฉัยครั้งแรก

 

บริษัทประกันภัยได้หยิบยกประเด็นข้อพิพาทข้างต้นทั้งสองประเด็นมาปฏิเสธ โดยอ้างว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ตกอยู่ในคำจำกัดความดังกล่าวแต่ประการใด

 

ถึงตรงนี้ คุณมีความคิดเห็นเช่นไรบ้างครับ? ก่อนที่เราจะไปต่อกันถึงผลทางคดีนี้ในสัปดาห์หน้า

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul