วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 79: ภัยเนื่องจากน้ำที่ว่าจะต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุนั้น (Sudden & Accidental Water Damage) จริง ๆ แล้ว หมายความเช่นใดกันแน่?


ผู้เอาประกันภัยได้สังเกตเห็นคราบน้ำอยู่ตรงขอบหน้าต่าง เมื่อตรวจสอบดูก็พบร่องรอยความชื้นตามผนังกำแพงบริเวณนั้น จึงพยายามใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาด หนึ่งสัปดาห์ต่อมา เริ่มเห็นเชื้อราขึ้นเป็นจุดกระจายไปทั่ว เมื่อตรวจสอบไล่หาจุดที่มาของความชื้นจนไปถึงจุดที่ฝังท่อน้ำในพื้นดินใต้ถุนบ้าน แต่ตนเองมิได้ยินเสียงน้ำรั่วไหลแต่ประการใด จึงทำการปิดวาวล์น้ำ และแจ้งช่างประปามาตรวจสอบแก้ไข

ช่างประปาได้เจาะพื้นและพบว่าท่อน้ำใต้พื้นรั่วไหลจริง ผู้เอาประกันภัยจึงได้แจ้งบริษัทประกันภัยของตน เพื่อให้รับผิดชอบสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น

บริษัทประกันภัยส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ และถ่ายรูปประกอบเป็นหลักฐาน ต่อมาได้ทำหนังสือแจ้งปฏิเสธความรับผิดอ้างว่า เนื่องจากเงื่อนไขความคุ้มครองภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage Condition) ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ระบุว่า

จะรับผิดสำหรับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากการเปียกน้ำ เฉพาะเพียงที่เป็นผลมาจากการรั่วไหล การประทุ การเอ่อล้น หรือการไหลของน้ำซึ่งได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุ (sudden and accidental) เท่านั้น 

ทั้งนี้ การรั่วไหล การประทุ การเอ่อล้น หรือการไหลของน้ำซึ่งได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุนั้นมิได้รวมถึงการไหล การรั่วซึมที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นช่วงระยะเวลา หรือการคงอยู่ของน้ำในช่วงเวลาหนึ่ง 
  
ครั้นคดีถูกนำขึ้นสู่ศาล พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยเห็นว่า การไหลของน้ำออกมาจากท่อน้ำได้เป็นไปอย่างฉับพลันแล้ว ส่วนพยานผู้เชียวชาญฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยกลับเห็นต่างว่า ความเสียหายเนื่องจากน้ำค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยที่ศาลชั้นต้นเห็นคล้อยตามกับฝ่ายจำเลย

ในชั้นศาลอุทธรณ์ ได้มีการวิเคราะห์ประเด็นข้อโต้แย้งดังนี้

1) คำว่า “ฉับพลัน” ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ คงมิอาจหมายถึงการค่อย ๆ เกิดขึ้น หรือการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ การที่น้ำค่อย ๆ ไหลออกมาจากท่อ (แม้หยดแรกจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันก็ตาม) และเพิ่มปริมาณทีละเล็กละน้อยนั้น ไม่น่าจะทำให้พบเห็นได้ว่าได้เกิดความเสียหายเนื่องจากน้ำอย่างฉับพลันแล้ว ดังในคดีนี้ที่กว่าจะตรวจพบการรั่วไหลของน้ำ ก็เป็นเวลาร่วมเดือนแล้ว
2) ข้อยกเว้นนี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวที่คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ โดยมิได้กำกวมแต่อย่างใด

จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดีนี้ไป

(อ้างอิงจากคดี Brown v. Mid-Century Insurance Company, — Cal. Rptr. 3d — (Apr. 24, 2013))  
    
ข้อสังเกตของนักกฎหมายบางรายเห็นว่า คดีนี้ดูเสมือนศาลตีความมุ่งไปที่ระยะเวลาของการค้นพบ อันเป็น “ผล (Effect)” มากกว่าจะมองไปที่ “เหตุ (Cause)
เทียบเคียงกับเงื่อนไขความคุ้มครองความเสียหายอันเกิดขึ้นจากภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage Endorsement) แบบ อค. 1.44 ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ฉบับมาตรฐานของบ้านเรา ซึ่งมีใจความสำคัญว่า
การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ได้ขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมา ของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

น่าดีใจบ้างนะครับที่มิได้มีคำว่า “ฉับพลัน” มากำกับเอาไว้ด้วย

ผมเขียนบทความอีกชุดหนึ่งภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งจะเน้นเขียนสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของการประกันวินาศภัยเสริมเพิ่มเติมใน Facebook ใน Meet Insurance จาก Facebook ส่วนตัวของผม และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory ขอฝากด้วยนะครับ ล่าสุดเป็นเรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electrical Injury & Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ (ที่จะต้องคุยกันยาวนิดนึง)

เรื่องต่อไปในบทความนี้ คำว่า “โดยมิได้มุ่งหวัง และโดยฉับพลัน (Unforeseen & Sudden)ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเครื่องจักร

วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 78: แล้วถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีหลายรายการ บางรายการเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ยังงี้ หากเกิดธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมดในภาพรวม จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ได้หรือไม่?


(ตอนที่สอง)

ตอนที่แล้วได้ทิ้งคำถามสำหรับสองตัวอย่างไว้เป็นการบ้าน ตอนนี้เราจะมาวิเคราะห์หาคำตอบกันทีละตัวอย่างนะครับ

ตัวอย่างที่หนึ่ง 

โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง มีร้านขายอยู่สองสาขา ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับทรัพย์สินฉบับหนึ่ง และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอีกฉบับหนึ่ง

ต่อมา เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โรงงานผลิต ส่งผลทำให้ร้านขายสองสาขาได้รับผลกระทบทางธุรกิจไปด้วย 

คุณคิดว่า ทั้งสองสาขาควรจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วยมั้ย? ทั้งที่มิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในสาขาเหล่านั้นเลย

คดีพิพาทนี้ ศาลได้วิเคราห์เจตนารมณ์ประกอบถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้ ซึ่งระบุว่า “หากธุรกิจของผู้เอาประกันภัยได้หยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ อันสืบเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ณ สถานที่เอาประกันภัยดังระบุไว้ บริษัทจะชดใช้ความสูญเสียทางการเงินที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงให้แก่ผู้เอาประกันภัย

ถ้อยคำดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อทำให้ผู้เอาประกันภัยกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังเดิมเสมือนหนึ่งมิได้เกิดความสูญเสียขึ้นมาเลย โดยมิได้จำกัดอย่างเฉพาะเจาะจงว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยกับความสูญเสียทางการเงินนั้นจะต้องอยู่ในสถานที่เอาประกันภัยเดียวกันเท่านั้นถึงจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้

คดีนี้ศาลเห็นว่า ทั้งโรงงานผลิตกับร้านขายสองสาขาต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน เนื่องจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปออกมาเพื่อส่งให้ทั้งสองสาขาจำหน่ายเป็นหลัก ถึงแม้สองสาขานั้นอาจจะรับเฟอร์นิเจอร์จากแหล่งอื่นมาขายด้วย แต่ก็มีสัดส่วนอยู่เพียงสามสิบสี่สิบเปอร์เซนต์เท่านั้น เมื่อโรงงานผลิตได้รับความเสียหาย สาขาทั้งสองแห่งต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าสาขาเหล่านั้น สาขาใด สาขาหนึ่งก็อาจส่งผลกระทบทางการเงินต่อโรงงานผลิตได้เช่นกัน

ศาลจึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจชะงักฉบับนี้ต่อผู้เอาประกันภัยโจทก์

(อ้างอิงจากคดี Wood Goods Galore, Inc. v. Reinsurance Association of Minnesota 478 N.W. 2d 205, 207 (Minn. Ct. App. 1991))

ตัวอย่างที่สอง

โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งประกอบด้วยอาคารห้องพักสี่หลัง และอาคารที่เป็นภัตตาคารหนึ่งหลัง

เช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินกับธุรกิจหยุดชะงักไว้อย่างละฉบับ

อยู่มาวันหนึ่ง ได้เกิดไฟไหม้ที่ภัตตาคารเพียงจุดเดียว อาคารที่เป็นห้องพักทั้งสี่หลังจะสามารถเรียกร้องความสูญเสียทางการเงินจากการได้รับผลกระทบทางธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ได้หรือไม่?

คดีนี้ บริษัทประกันภัยได้ปฏิเสธความรับผิดในส่วนของความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก โดยอ้างว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้รับความสูญเสียทางการเงินอย่างแท้จริง ถึงแม้ได้เกิดความเสียหายแก่อาคารภัตตาคารที่เอาประกันภัยไว้ และตั้งอยู่ภายในบริเวณสถานที่เอาประกันภัยด้วย ซึ่งเคยมีแนวคำพิพากษาตัดสินมาแล้ว

ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ต่อสู้ว่า แนวคำพิพากษาก่อนหน้านี้ ซึ่งมีลักษณะเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน คือ เกิดความเสียหายที่ภัตตาคาร แต่ส่วนอาคารห้องพักมิได้เสียหายนั้น มีความแตกต่างจากคดีนี้ เพราะคดีก่อน ตัวภัตตาคารที่เสียหายนั้นเป็นพื้นที่เช่า ส่วนคดีนี้ ภัตตาคารกับโรงแรมเป็นเจ้าของเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น ความเสียหายที่จุดหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อจุดอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากทุกจุดล้วนต้องอาศัยพึ่งพากันในทางธุรกิจ (Mutual Dependency) ด้วยกันทั้งสิ้น 

ศาลคดีนี้วินิจฉัยว่า ถ้าในส่วนอาคารห้องพักทั้งสี่หลัง เห็นว่า มีความพึ่งพาอาศัยกันอย่างชัดเจนเสมือนหนึ่งเป็นส่วนเดียวกันทั้งหมด แต่ในส่วนของภัตตาคารนั้น อาจมิได้มีความสำคัญต่อโรงแรมถึงขนาดนั้น แม้ปราศจากภัตตาคาร ธุรกิจของโรงแรมสามารถดำเนินต่อไปได้ แม้จะไม่มีการให้บริการอาหารอีกต่อไป ประกอบกับข้อความจริงในคดีนี้ ส่วนของภัตตาคารได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกคนละฉบับกับส่วนของโรงแรม ดูเสมือนให้แยกธุรกิจทั้งสองส่วนออกจากกัน กอปรกับคำให้การของผู้เอาประกันภัยเองเสมือนมิได้รีบเร่งให้ทำการซ่อมแซมความเสียหายของส่วนภัตตาคาร ทำให้น้ำหนักพยานฝ่ายโจทก์ดูอ่อนลงไป ศาลไม่เชื่อว่า ความสูญเสียทางการเงินในภาพรวมที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีนี้จะเป็นผลโดยตรงอย่างแท้จริงจากความเสียหายของส่วนภัตตาคารเป็นสำคัญ จึงพิพากษาให้จำเลยบริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับนี้

(อ้างอิงจากคดี Ramada Inn Ramogreen, Inc. v. Travelers Indemnity Co. of America, 835 F.2d 812 (11th Cir. 1988))

แม้ตัวอย่างคดีทั้งสองเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจมีเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักแตกต่างในรายละเอียดจากของประเทศอังกฤษที่บ้านเราใช้เป็นต้นแบบอยู่บ้าง แต่หลักการที่สำคัญแทบมิได้ต่างจากกันมากนัก 

ถ้าเราพิจารณาจากหลักพึ่งพาอาศัยกัน (Mutual Dependency) ที่ศาลประเทศอเมริกาวางแนวทางไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 ในคดี Studley Box ทำให้ถูกเรียกว่า “ทฤษฏี Studley Box ศาลได้วางหลักการว่า การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีลักษณะแตกต่างจากการประกันอัคคีภัยที่สามารถกำหนดมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแต่ละชิ้น แต่ละส่วนได้อย่างชัดเจน ขณะที่การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมิได้เป็นเช่นนั้น ทำให้ต้องมองจากภาพรวมของธุรกิจเป็นเกณฑ์ เว้นแต่ผู้รับประกันภัยจะได้กำหนดให้เป็นเช่นนั้นอย่างชัดแจ้ง เช่น เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการแยกแผนก (Departmental Clause) เป็นต้น

ในส่วนของประเทศอังกฤษก็วางแนวทางคล้ายคลึงนี้ไว้เป็นลักษณะข้อตกลงระหว่างบริษัทประกันภัยด้วยกันที่เรียกว่า “Blundell Spence Agreement” 

เมื่อมาพิจารณาเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของประเทศไทย ซึ่งกำหนดว่า

บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผลทำให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย

หากนำมาปรับใช้กับตัวอย่างทั้งสองกรณีข้างต้น คุณคิดว่า ศาลไทยจะตีความออกมาเช่นใดครับ?

ผมเขียนบทความอีกชุดหนึ่งภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ซึ่งจะเน้นเขียนสาระน่ารู้ต่าง ๆ ของการประกันวินาศภัยเสริมเพิ่มเติมใน Facebook ใน Meet Insurance จาก Facebook ส่วนตัวของผม และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory ขอฝากด้วยนะครับ ล่าสุดเป็นเรื่อง ภัยต่อเครื่องไฟฟ้า (Electrical Injury & Installation) เรื่องที่คุยกันไม่รู้จบ

เรื่องต่อไปในบทความนี้ ภัยเนื่องจากน้ำที่ว่าจะต้องเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุนั้น (Sudden & Accidental Water Damage) จริง ๆ แล้ว หมายความเช่นใดกันแน่?

วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 78: แล้วถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีหลายรายการ บางรายการเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ยังงี้ ถ้าเกิดธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมดในภาพรวม จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ได้หรือเปล่า?


(ตอนที่หนึ่ง)

เงื่อนไขบังคับก่อนที่กำหนดให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียก่อนที่จะส่งผลทำให้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีผลเริ่มคุ้มครองนั้น บางท่านอาจมีคำถามในใจว่า ถ้าทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหลายรายการ จะถือว่า กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักมีผลบังคับเมื่อใด? 

1) เมื่อทุกรายการของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย หรือ
2) เมื่อบางรายการของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่เป็นทรัพย์สินหลักเท่านั้นได้รับความเสียหาย หรือ
3) เมื่อบางรายการใดก็ได้ที่มิใช่เป็นทรัพย์สินหลักของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย

ตัวอย่างที่หนึ่ง

โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง มีร้านขายอยู่สองสาขา ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยสำหรับทรัพย์สินฉบับหนึ่ง และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักอีกฉบับหนึ่ง

ต่อมา เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โรงงานผลิต ส่งผลทำให้ร้านขายสองสาขาได้รับผลกระทบทางธุรกิจไปด้วย 

คุณคิดว่า ทั้งสองสาขาควรจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักด้วยมั้ย? ทั้งที่มิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในสาขาเหล่านั้นเลย

ตัวอย่างที่สอง

โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งประกอบด้วยอาคารห้องพักสี่หลัง และอาคารที่เป็นภัตตาคารหนึ่งหลัง

เช่นเดียวกัน ทั้งหมดได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินกับธุรกิจหยุดชะงักไว้อย่างละฉบับ

อยู่มาวันหนึ่ง ได้เกิดไฟไหม้ที่ภัตตาคารเพียงจุดเดียว อาคารที่เป็นห้องพักทั้งสี่หลังจะสามารถเรียกร้องความสูญเสียทางการเงินจากการได้รับผลกระทบทางธุรกิจที่เอาประกันภัยไว้ได้หรือไม่? 

คุณมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ?

แล้วค่อยคุยกันต่อสัปดาห์หน้าครับ 

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 77: การหยุดชะงักของธุรกิจ หรือการได้รับผลกระทบต่อธุรกิจในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ครอบคลุมขนาดไหน? ระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า


(ตอนที่สอง)

ต้องขออภัยด้วยครับ ที่ยังไม่ขอเริ่มเรื่องที่ 78 ดังที่เกริ่นเอาไว้ เพราะเรื่องที่ 77 ยังขาดประเด็นสำคัญที่ควรแก่การกล่าวถึงเพิ่มเติมอีก

สืบเนื่องจากเรื่องที่ 77 ซึ่งผู้เช่าทำประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักคุ้มครองความเสียหายทางการเงินของตน อันสืบเนื่องมาจากทรัพย์สินของตนเองนั้น ครั้นเกิดความเสียหายจำกัดขอบเขตเพียงแค่ทรัพย์สินของผู้ให้เช่าเท่านั้น ส่งผลทำให้ผู้เช่าที่ทรัพย์สินของตนมิได้เสียหาย แต่ธุรกิจต้องหยุดชะงัก จึงมิอาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของตนได้นั้น เป็นปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการเลือกใช้ถ้อยคำข้อกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะต้องเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก่อน (Materail Damage Proviso) ที่จำกัดดังในคดีดังกล่าวที่เกิดขึ้น

ครั้นได้มีโอกาสอ่านเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (เนื่องจากภัยที่เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน) ฉบับมาตรฐานของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ก็รู้สึกสบายใจว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังคดีดังกล่าว เชื่อว่า น่าจะได้รับความคุ้มครอง เพราะข้อต่อสู้ในคดีดังกล่าวของประเทศอังกฤษ ได้มีการหยิบยกเปรียบเทียบอ้างอิงไว้เช่นกันว่า ถ้าเงื่อนไขที่เป็นปัญหานั้นได้มีการนำข้อกำหนดที่ถูกปรับปรุงแก้ไขใหม่แล้วมาใช้แทน ผู้เอาประกันภัยนั้นจะสามารถชนะคดี และได้รับความคุ้มครองทันที โดยข้อกำหนดใหม่นั้นได้เขียนเอาไว้ ซึ่งสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ ดังนี้

ผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ หากปรากฏว่า อาคารสิ่งปลูกสร้างใด หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ผู้เอาประกันภัยได้ใช้งานอยู่ ณ สถานที่เอาประกันภัย เพื่อประกอบธุรกิจดังที่ได้ระบุเอาประกันภัยไว้นั้น ได้รับความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายโดยอุบัติเหตุในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัย จนส่งผลสืบเนื่องทำให้ธุรกิจที่ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้ ณ สถานที่ดังกล่าวนั้น จำต้องหยุดชะงัก หรือได้รับผลกระทบอันสืบเนื่องมาจากการนั้น

แต่คดีดังกล่าวกลับมิได้ใช้ข้อกำหนดเงื่อนไขใหม่ดังกล่าว จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นมา

สำหรับเงื่อนไขดังกล่าวของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของประเทศไทย ใช้ถ้อยคำ ดังนี้

บริษัทตกลงจะให้ความคุ้มครองสำหรับความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจ ณ สถานที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน และมิได้มีการระบุยกเว้นไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ณ เวลาใดในระหว่างระยะเวลาเอาประกันภัยที่ปรากฏในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และเป็นผลทำให้ธุรกิจที่ดำเนินอยู่โดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัยหยุดชะงักลง หรือได้รับผลกระทบ บริษัทจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่ละรายการที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย

กรุณาตรวจสอบข้อกำหนดเงื่อนไขนี้ที่ท่านมีอยู่ด้วยนะครับว่า ใช้ถ้อยคำแบบแคบ หรือแบบกว้างอย่างปัจจุบัน เพราะกว่ากรมธรรม์ประกันภัยฉบับภาษาไทยนี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับได้ ก็เป็นต้นปีหน้าโน่นล่ะครับ

ขอให้โชคดีครับ สัปดาห์หน้าเราจะกลับมาคุยกันในเรื่องที่ 78 เสียทีครับ