เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีการหยิบยกเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะ ทำให้เกิดควันพิษแพร่กระจายออกไปทั่วบริเวณนั้น จนถึงกับต้องอพยพผู้คนออกไปด้วย เนื่องจากกว่าจะสามารถดับไฟที่บ่อขยะ ก็ใช้เวลานานหลายวัน มาเป็นกรณีศึกษาทางด้านประกันภัย โดยสมมุติว่า
หากภายหลังกระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบพบว่า
บ้านของผู้เอาประกันภัย
ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุมากที่สุดได้ถูกควันพิษอบอยู่หลายวัน
จนกระทั่งสารพิษได้ฝังตัวแทรกอยู่ในตัวบ้านจนไม่ปลอดภัยแก่การพักอยู่อาศัยได้อีกต่อไป
จำต้องรื้อถอน เพื่อสร้างขึ้นมาใหม่ด้วยวัสดุใหม่ทั้งหมด ถ้าท่านเป็นผู้รับประกันภัยบ้านของผู้เอาประกันภัยรายนี้ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย
ท่านจะพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้หรือไม่ อย่างไร?
เรื่องนี้เป็นประเด็นในการตีความคำว่า
“ความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ” ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น
มีความหมายอย่างไรในการตีความของศาลต่างประเทศ
เนื่องด้วยยังไม่พบคดีฟ้องร้องในประเด็นนี้ในศาลไทย
ทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยก็มิได้ให้คำจำกัดความเอาไว้เลย ครั้นจะอาศัยพจนานุกรมในการตีความนั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตกลับให้ความหมายว่า "กายภาพ หมายความถึง เกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เกี่ยวกับสสารและพลังาน, เกี่ยวกับลักษณะตามธรรมชาติของโลก"
ตามความเข้าใจของคนทั่วไป มักจะตีความว่า
เป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายที่สามารถสัมผัส หรือมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น
รอยถูกไฟไหม้ รอยเปียกน้ำ แต่รอยการถูกควันจากไฟไหม้
ซึ่งถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดจากภัยไฟไหม้ (หากควันเกิดขึ้นมาก่อนการเกิดไฟลุกไหม้
จะไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ภัยไฟไหม้ของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย) จากตัวอย่างดังกล่าว
รอยถูกไฟไหม้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ส่วนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเปียกน้ำดับเพลิง ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นไม้ หรือเป็นคอนกรีต
น้ำสามารถแทรกซึมเข้าไปได้ มองด้วยตาเปล่า
ทรัพย์สินเหล่านั้นเสมือนหนึ่งไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหายเลย
เพียงนำผ้ามาเช็ดหยดน้ำที่เกาะอยู่ ก็อาจเพียงพอแล้ว
แต่ลึกเข้าไปข้างในหยดน้ำยังฝังตัวอยู่
อาจสร้างความเสียหายต่อเนื่องถึงขนาดทำให้เนื้อไม้เปื่อยผุพังได้
หรือเกิดเชื้อราขึ้นที่ตัวคอนกรีตในภายหลังก็เป็นได้
ซึ่งถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดจากภัยไฟไหม้ได้เช่นกัน
สำหรับความเสียหายของควันจากไฟไหม้ก็มิได้แตกต่างกันในการพิจารณา
เพียงแต่กลิ่นเหม็น หรือสารพิษจากซากที่ถูกไฟไหม้ที่แฝงตัวอยู่ในควันไฟที่ลอยมา
และมาฝังตัวลึกลงไปอยู่ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น
อาจจะสัมผัสไม่ใคร่ได้ชัดเจน กลิ่นเหม็นอาจพอสัมผัสสูดดมได้
แต่สารพิษที่ฝังตัวอยู่ภายใน อาจจำต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบ
และเมื่อตรวจพบว่า ไม่ปลอดภัยและเหมาะสมสำหรับการใช้อยู่อาศัยอีกต่อไป ก็ถือได้ว่า
ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายทางกายภาพโดยสิ้นเชิง
การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเป็นจริงเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิม
จำต้องรื้อและสร้างขึ้นมาใหม่ทดแทน ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น