เรื่องที่ 229 : ภัยฟ้าผ่า (Lightning Peril) หมายความถึงอะไร?
ภัยคุ้มครองพื้นฐานปกติของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะประกอบด้วย ภัยหลักสามภัยดังต่อไปนี้
1) ภัยไฟไหม้
2) ภัยฟ้าผ่า (Lightning)
3) ภัยการระเบิดของแก๊สที่ใช้สำหรับทำแสงสว่าง หรือประโยชน์เพื่อการ
อยู่อาศัย
ภัยฟ้าผ่าไม่ปรากฏคำนิยามเฉพาะเจาะจงกำกับเอาไว้เลย
แล้วอะไร คือ ภัยฟ้าผ่ากันล่ะ?
ฟ้าผ่ายังไงถึงจะได้รับความคุ้มครอง?
- ต้องเกิดฟ้าผ่าตรงที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น หรือ
- แค่มีฟ้าผ่าเฉียด ๆ แต่ส่งผลความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็ได้แล้ว
อย่างแรกพิสูจน์ได้ง่าย เพราะเห็นได้อย่างชัดเจน
อย่างหลังพิสูจน์ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่ปรากฏร่องรอยฟ้าผ่า พบแต่ร่องรอยผลความเสียหายที่ตามมาเท่านั้น
ภัยฟ้าผ่าที่ดูผิวเผินประหนึ่งจะเข้าใจง่ายนี้ มักสร้างความปวดหัวอย่างมากทั้งในบ้านเรา และต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดแก่ตัวเครื่องจักร เครื่องไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หรืออุปกรณ์ที่ได้เอาประกันภัย ซึ่งอาจเกิดความเสียหายชำรุดเสียหายไม่ทำงาน (breakdown/failure) ขึ้นมาเฉย ๆ
มักบังเกิดข้อพิพาทอยู่บ่อยครั้ง ความชำรุดเสียหายดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจากภัยฟ้าผ่า หรือสาเหตุอื่นใดกันแน่?
เรามาลองพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้จากต่างประเทศกันครับ
ผู้ประกอบการรายหนึ่งได้ทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้ โดยมีทุนประกันภัยเฉพาะในส่วนของเครื่องจักรกลกับเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมส่วนประกอบต่าง ๆ รวมกันอยู่ที่ 15,000,000 รูปีอินเดีย (หรือเทียบเท่าประมาณ 5,656,890 บาท) ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 เรื่อยมา
ณ วันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2007 ได้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองกับฟ้าผ่าขึ้นมาแถบพื้นที่ตั้งโรงงานของผู้เอาประกันภัยรายนี้ ส่งผลทำให้เสารับสัญญาณตรงระเบียงอาคารสำนักงานของผู้เอาประกันภัยหักโค่นลง และสร้างความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการ์ดควบคุมการเคลื่อนไหวห้าตัว (five electronic control cards) ที่มีอยู่ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ถึงขนาดปรากฏข้อผิดพลาด และไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ส่งหนังสือแจ้งความเสียหายพร้อมกับรายงานการตรวจสอบของบริษัทผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ต่อบริษัทประกันภัยของตนในวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2007
บริษัทประกันภัยเจ้านี้ก็ได้แต่งตั้งผู้ประเมินวินาศภัยเข้ามาดำเนินการตรวจประเมินความเสียหายทันทีในวันเดียวกัน โดยมีรายงานผลการตรวจประเมินนั้นออกมา ณ วันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 2007
วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2007 บริษัทประกันภัยเจ้านี้ได้ตอบปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการแก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ โดยอ้างว่า
ผลความเสียหายเกิดขึ้นมาจากภาวะกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรง (heavy surges) ซึ่งได้ถูกเหนี่ยวนำ (induced) กระแสไฟฟ้านั้นให้เข้ามาสร้างความเสียหายแก่เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนถึงขนาดชำรุดเสียหายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป
โดยที่กรณีความเสียหายเช่นว่านี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาทที่ระบุไม่คุ้มครองถึง
“ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจากการเดินเครื่องเกินกำลัง การใช้ความดันเกินกำหนด ไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดประกายไฟฟ้า การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย”
ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นโจทก์ได้นำเรื่องขึ้นสู่คณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาทด้านผู้บริโภคแห่งชาติ (National Consumer Disputes Redressal Commission (NCDRC)) ของประเทศอินเดียซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อพิจารณาหาข้อยุติ
คณะกรรมการชั้นต้นได้ตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้รับความคุ้มครอง เนื่องด้วยภัยฟ้าผ่า (lightning) เป็นภัยที่คุ้มครองซึ่งไม่ได้มีคำนิยามกำกับไว้ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาทอย่างชัดแจ้ง ถึงแม้นได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปคลื่นแรงดันไฟฟ้าของกระแสไฟฟ้าสืบเนื่องจากฟ้าผ่าอยู่ก็ตาม นั่นเป็นผลที่มีสาเหตุมาจากภัยฟ้าผ่าที่คุ้มครองโดยเฉพาะ
บริษัทประกันภัยเจ้านี้ในฐานะจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน
คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็นว่า
คำฟ้องของฝ่ายโจทก์ระบุอย่างชัดเจนว่า พายุลมแรงที่มากับฝนฟ้าคะนองได้สร้างความเสียหายแก่เสารับสัญญาณที่ติดตั้งอยูบนระเบียงอาคาร โดยได้มีการกล่าวถึงไว้ในหนังสือลงวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 ซึ่งแจ้งถึงความเสียหายพร้อมกับรายงานการตรวจสอบของบริษัทผู้ให้บริการระบบคอมพิวเตอร์ของฝ่ายโจทก์ต่อบริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยไว้ด้วย แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ในรายงานผลการตรวจประเมินความเสียหายนั้นของผู้ประเมินวินาศภัยฝ่ายจำเลยกลับมิได้กล่าวถึงภาวะเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ตลอดจนไม่ได้เอ่ยถึงการเข้าไปตรวจสอบระเบียง หรือเหตุแห่งความเสียหายที่มีต่อเสารับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่บนระเบียงนั้นใด ๆ เลย สิ่งที่น่าฉงนใจยิ่งกว่านั้น ทั้งที่ผู้แทนของฝ่ายจำเลยเองก็เข้าอยู่ร่วมในการตรวจประเมินความเสียหายนั้นเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่มีการลงรายละเอียดของสาระสำคัญแห่งความเสียหายดังกล่าวนั้นแต่ประการใด พยานหลักฐานในประเด็นข้อโต้แย้งนี้ของฝ่ายจำเลยดูไม่น่าเชื่อถือว่า ได้มีการตรวจประเมินความเสียหายนั้นจริง
อนึ่ง คำว่า “ฟ้าผ่า (lightning)” อันเป็นภัยคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท เมื่อไม่ปรากฏคำนิยามเฉพาะกำกับไว้ จำต้องอาศัยการพิจารณาความหมายทั่วไปตามพจนานุกรมทั่วไป ซึ่งในพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับย่อของอ็อกซ์ฟอร์ด (Concise Oxford English Dictionary) หมายความถึง
“ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับพื้นดิน หรือระหว่างเมฆกับเมฆ ทำให้เกิดแสงสว่างวาบ (ฟ้าแลบ) และเสียงดัง (ฟ้าร้อง) ตามมา โดยปกติแล้วฟ้าผ่ามักเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนอง”
ในคดีนี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานบันทึกถึงการเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวอาคารโดยตรง เพียงแต่มีรายงานการตรวจประเมินความเสียหายระบุถึงสภาพภูมิอากาศช่วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นต้นว่า ฟ้าผ่า พายุฝนฟ้าคะนองบังเกิดขึ้น ภาวะกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรง (heavy surges) อาจถูกเหนี่ยวนำ (induced) เข้าไปอยู่ในสายไฟฟ้าอาจทำให้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวที่มีความซับซ้อนอ่อนไหวจนถึงขนาดชำรุดเสียหายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติเช่นเดิม
ความเข้าใจทั่วไปถึงภัยฟ้าผ่า คือ ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับเมฆ หรือระหว่างเมฆกับพื้นดิน ครั้นเมื่อปราศจากคำนิยามเฉพาะกำกับไว้ในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์จึงเห็นว่า ความเสียหายจากภัยฟ้าผ่าไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแค่การปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับพื้นดินเท่านั้น แต่ควรรวมถึงจากการปลดปล่อยประจุไฟฟ้าแรงสูงระหว่างเมฆกับเมฆด้วยเช่นเดียวกัน
อีกทั้งรายงานผลการตรวจประเมินความเสียหายนั้นของผู้ประเมินวินาศภัยฝ่ายจำเลยยังเขียนถึงการบอกเล่าของพยานฝ่ายโจทก์ว่า บริเวณเมืองที่ตั้งของสถานประกอบการที่เอาประกันภัยได้ประสบภาวะพายุลมแรงตามด้วยฝนฟ้าคะนอง ประมาณเวลา 18.00 น. ของวันพุธที่ 11 เมษายน ค.ศ. 2007 และเกิดไฟฟ้าดับไปทั่วทั้งเมืองเป็นระยะเวลาประมาณสองชั่วโมง เนื่องด้วยสาเหตุการเกิดกระแสไฟฟ้ากระโชกจากภายนอกที่มาจากฟ้าผ่าอันส่งผลทำให้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายดังกล่าว โดยไม่ปรากฏร่องรอยความเสียหายจากไฟไหม้ทั้งภายนอกกับภายในของตัวเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นแต่ประการใด ฉะนั้น คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์มีความเห็นว่า การชำรุดเสียหายของเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นเนื่องมาจากการเกิดกระแสไฟฟ้ากระโชกอย่างรุนแรงในระบบไฟฟ้านั้น
การที่ผู้ประเมินวินาศภัยของฝ่ายจำเลยอ้างอิงข้อความจริงจากผู้แทนของฝ่ายโจทก์เป็นเกณฑ์ โดยไม่ได้พยายามค้นหาพยานหลักฐานอื่นเพื่อมาโต้แย้งเป็นอื่น จึงถือว่า ฝ่ายจำเลยได้ยอมรับสาเหตุแห่งความเสียหายนั้นโดยปริยาย แต่กลับมาอ้างอิงข้อยกเว้นข้างต้นเพื่อปฏิเสธความรับผิดภายหลัง อีกทั้งข้อยกเว้นนี้ก็ไม่มีผลใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ เพราะไม่ได้มีการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า เนื่องจากฟ้าไม่ได้ผ่าลงตรงที่ตัวเครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้นโดยตรง และไม่ได้มีไฟลุกไหม้ขึ้นมาด้วย (because there is no leakage of electricity as lightning has not struck the machine and there was no fire)
คณะกรรมการชั้นอุทธรณ์จึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยฉบับพิพาท
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี National Insurance Co. Ltd. vs M/S. Gold Stone Technologies Ltd. on 23 February, 2016)
หมายเหตุ
ถ้าอ่านเหตุผลความเห็นตอนท้ายสุดของคณะกรรมการชั้นอุทธรณ์อย่างผิวเผิน ก็อาจค่อนข้างงงว่า การรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าไปเกี่ยวข้องได้ยังไง?
แต่เมื่อย้อนกลับไปอ่านถ้อยคำอย่างเพ่งพินิจของข้อยกเว้นนี้อีกครั้งหนึ่งซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึง
“ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจากการเดินเครื่องเกินกำลัง การใช้ความดันเกินกำหนด ไฟฟ้าลัดวงจร การเกิดประกายไฟฟ้า การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย”
หากคงไม่เข้าใจอยู่เช่นเดิม เสนอแนะให้ลองแยกแยะถ้อยคำออกมาเป็นส่วนย่อย ๆ ดังนี้ น่าจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นไหมครับ?
1) ความสูญเสีย ความวินาศ หรือความเสียหายต่อเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้
2) อันเกิดขึ้นมาจาก หรือเป็นเหตุมาจาก
2.1) การเดินเครื่องเกินกำลัง
2.2) การใช้ความดันเกินกำหนด
2.3) ไฟฟ้าลัดวงจร
2.4) การเกิดประกายไฟฟ้า
2.5) การเผาไหม้ของสายไฟในตัวเอง หรือ
2.6) การรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าจากสาเหตุใดก็ตาม (รวมทั้งสาเหตุฟ้าผ่าด้วย)
3) ทั้งนี้ เพียงเฉพาะแก่เครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้ซึ่งได้รับผลกระทบเช่นว่านั้นเท่านั้น
4) โดยไม่รวมถึงเครื่องจักรที่ใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ได้ถูกติดตั้งไว้อื่นใดที่เสียหายจากไฟไหม้ด้วย
น่าสนใจนะครับ ศาลบ้านเราจะแปลความหมายข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป ฉบับมาตรฐานของบ้านเราเช่นไร? ซึ่งได้เขียนคล้ายคลึงกันว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครอง
……………………………..
4) ทรัพย์สินต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
……………………………….
4.7 ไดนาโม หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า แผง
ควบคุม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ซึ่งได้รับความเสียหาย
เนื่องจาก หรือเพราะการเดินเครื่องเกินกำลัง หรือได้รับกระแสไฟฟ้าเกินกำลัง
หรือไฟฟ้าลัดวงจร รวมถึงไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากฟ้าผ่า เฉพาะเครื่องที่เกิดการ
เสียหายในกรณีดังกล่าว”
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/