วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2568

เรื่องที่ 224 : ภาษาประกันภัยตามที่เป็นอยู่ (as is) กับตามเดิมที่กำลังจะหมดอายุ  (as expiring) เหมือน หรือต่างกันไหม?

 

ธุรกิจประกันภัยในไทยมักนิยมใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างกว้างขวาง หลายครั้ง ผู้ปฏิบัติอาจมีความรู้ความเข้าใจที่ดี แต่บ่อยครั้งก็อาจไม่เป็นเช่นนั้น

 

แม้นกระทั่งเจ้าของภาษาเองก็เถอะ ก็ยังอาจเกิดความพลั้งผลาดไปได้ สอดคล้องกับสำนวนไทยที่ว่า สี่ตีน ยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้

 

กลุ่มธุรกิจธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลกได้ซื้อประกันภัยความรับผิดรายปีหลายฉบับผ่านบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 – ค.ศ. 2004 โดยจะมีการต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเจ้าเดิมเรื่อยมา ณ วันที่ครบรอบความคุ้มครอง 31 มีนาคมของทุกปี

 

ปี ค.ศ. 2005 สาขาธนาคารของผู้เอาประกันภัยในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ถูกฟ้องจากทายาทของผู้เสียชีวิต/ผู้บาดเจ็บจากการก่อการร้ายในประเทศอิสราเอล ด้วยการกล่าวหาว่า มีส่วนสนับสนุนในฐานะเป็นแหล่งเงินฝากของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านั้น

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้แจ้งเหตุแก่บริษัทประกันภัยของตนถึงโอกาสเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันภัยระหว่างปี ค.ศ. 2002 – 2003 และ ค.ศ. 2003 – 2004

 

เมื่อบริษัทประกันภัยแห่งนั้นได้ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยดังอ้างอิงแล้ว ได้ตอบกลับมาว่า สำหรับช่วงระยะเวลาประกันภัยระหว่างปี ค.ศ. 2002 – 2003 ไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เนื่องจากตกอยู่ในข้อยกเว้นภัยการก่อการร้าย (Terrorism Exclusion)

 

ทางผู้เอาประกันภัยกับบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยจึงร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทประกันภัยของตนเป็นจำเลยให้รับผิดชอบ โดยมีประเด็นข้อถกเถียงเพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสิน ดังนี้

 

1) ช่วงระยะเวลาประกันภัยระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2002 ถึง31 มีนาคม ค.ศ. 2003 ได้ปรากฎข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายโดยชัดแจ้งหรือไม่?

 

2) ถ้ามี ข้อยกเว้นนั้นระบุไว้เช่นใด?

 

1) ช่วงระยะเวลาประกันภัยระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 2002 ถึง31 มีนาคม ค.ศ. 2003 ได้ปรากฎข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายโดยชัดแจ้งหรือไม่?

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยให้การต่อสู้ว่า ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ช็อกโลก 9/11 ในปี ค.ศ. 2001 ธุรกิจประกันภัยทั่วโลกได้เริ่มจำกัดความคุ้มครองของตนให้น้อยลงด้วยการยกเว้นไม่คุ้มครองภัยการก่อการร้าย ทำให้ในปีต่ออายุความคุ้มครองช่วงดังกล่าว ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยได้ส่งโทรสารแจ้งเงื่อนไขต่ออายุถึงฝ่ายบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยโจทก์ร่วมล่วงหน้าแล้วว่า “ไม่คุ้มครองภัยการก่อการร้าย (ตามข้อกำหนดเงื่อนไขแล้วแต่จะตกลงกัน) (Terrorism Exclusion (wording to be agreed)” ทั้งที่ปีที่ผ่านมาไม่มีข้อยกเว้นนี้อยู่ แต่ฝ่ายผู้เอาประกันภัยโจทก์ร่วมกลับไม่ได้รับทราบข้อมูลนี้จากฝ่ายบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยโจทก์ร่วมเลย จึงได้ยืนยันการต่ออายุไป โดยทางฝ่ายบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยโจทก์ร่วมก็ได้ยืนยันสนับสนุนอีกแรงว่า ได้แจ้งตอบการต่ออายุกลับไปด้วยถ้อยคำว่า “ตามที่เป็นอยู่ (as is)” เพราะข้อเสนอข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายเช่นว่านั้น เป็นเพียงข้อเสนอลอย ๆ ไม่ได้มีการจัดส่งถ้อยคำของข้อยกเว้นมาให้พิจารณาก่อนเลย ทั้งฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยเองก็ไม่ได้กล่าวตอกย้ำยืนกรานมาอย่างแข็งขัน

 

นอกจากนั้น ในแนวปฏิบัติที่แท้จริงช่วงเวลานั้นของธุรกิจบริษัทประกันภัยเริ่มแรกอาจยืนกรานไม่คุ้มครองอย่างแข็งขัน แต่ภายหลังก็เริ่มผ่อนผันลงให้ ด้วยหวั่นเกรงจะเสียลูกค้าไป

 

อย่างไรก็ดี ฝ่ายโจทก์ทั้งสองก็ยอมรับว่า ถ้อยคำว่า “ตามที่เป็นอยู่ (as is)” นั้น อาจหมายความถึง “ตามที่ได้เสนอมา (as quoted)” ได้เช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้จะให้ความหมายในลักษณะ “ตามเดิมที่กำลังจะหมดอายุไป (as expiring)” ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ทำให้เป็นอันยกเลิกข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายของเงื่อนไขการต่ออายุที่ถูกนำเสนอขึ้นมานั้นลงได้ เพราะในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอื่นคงยังยินยอมให้เพิ่มข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายอยู่ดี คำให้การโต้แย้งนี้ของฝ่ายโจทก์ทั้งสองขัดแย้ง ไม่อาจรับฟังได้

 

2) ถ้ามี ข้อยกเว้นนั้นระบุไว้เช่นใด?

 

ส่วนคำถามทำไมฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยถึงไม่จัดส่งข้อยกเว้นนี้มาให้ตรวจทานเสียก่อน? หากยืนกรานไม่คุ้มครองเช่นว่านั้นอยู่ เนื่องจากใช้ถ้อยคำว่า “ไม่คุ้มครองภัยการก่อการร้าย (ตามข้อกำหนดเงื่อนไขแล้วแต่จะตกลงกัน) (Terrorism Exclusion (wording to be agreed)” แทนคำว่า “ไม่คุ้มครองภัยการก่อการร้าย (Terrorism Excluded

 

ตราบใดเมื่อฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยยังไม่ปรากฎมีถ้อยคำของข้อยกเว้นภัยการก่อการร้ายให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสองได้พิจารณาก่อน ข้อเสนอเช่นว่านั้นก็ยังไม่มีผลใช้บังคับได้

 

ศาลไม่เห็นพ้องด้วย การเสนอถ้อยคำของข้อยกเว้นดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของข้อยกเว้นดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งคู่ความจะต้องไปว่ากล่าวกันเองต่างหาก ไม่ได้หมายความว่า ถ้าปราศจากถ้อยคำเช่นว่านั้นแล้ว จะไม่บังเกิดข้อยกเว้นดังกล่าวขึ้นมาได้เลย

 

ศาลจึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยจำเลยเป็นฝ่ายชนะคดี

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Axa Corporate Solutions SA v National Westminster Bank Plc & Marsh Ltd [2010] EWHC 1915 (Comm))

 

หมายเหตุ

 

ข้อความจริงเพิ่มเติมของตัวอย่างคดีนี้ดูค่อนข้างสับสน แม้ผู้เอาประกันภัยได้แต่งตั้งบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยเป็นคนกลางเจรจาตกลงเงื่อนไขกับบริษัทประกันภัย แต่ผู้เอาประกันภัยกลับเป็นผู้แจ้งยืนยันการทำประกันภัยโดยตรงแก่บริษัทประกันภัยเอง ทำให้ข้อมูลอาจตกหล่นไปบ้าง ถึงกระนั้น ผู้เอาประกันภัยจะปฏิเสธความไม่รู้เห็นอย่างครบถ้วนของตน ก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยนั้นถือเป็นตัวแทนของผู้เอาประกันภัยอยู่ดี หากผิดพลาดตกหล่นประการใด ทั้งคู่คงต้องไปว่ากล่าวระหว่างกันเองอีกทอดหนึ่ง

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/