เรื่องที่ 213 : กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors & Officers’ Liability Insurance Policy) ยังมีผลใช้บังคับได้ไหม? เมื่อบริษัทของผู้เอาประกันภัยถูกฟ้องล้มละลาย
ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศเรื่องนี้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล เมื่อบริษัทต้นสังกัดของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ถูกฟ้องล้มละลาย ก่อให้เกิดข้อถกเถียงระหว่างผู้ดูแลกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย (trustee) กับกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องส่วนตัวในเรื่องการบริหารงานผิดพลาดว่า
1) จำนวนเงินที่จะได้รับชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย (bankruptcy estate) หรือไม่?
2) ถ้าใช่ ศาลจะยินยอมให้เพิกถอนสภาวะการพักชำระหนี้ (the automatic stay) บางส่วน เพื่อให้นำจำนวนเงินดังกล่าวไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ให้แก่กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องส่วนตัวได้หรือไม่?
ฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องส่วนตัว
อ้างว่า ตนมีชื่อเป็นผู้ได้รับความคุ้มครอง ภายใต้ข้อตกลงคุ้มครอง ก (Side A Coverage) ซึ่งให้ความคุ้มครองความรับผิดส่วนบุคคลแก่กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารเป็นรายบุคคล กรณีที่บริษัทที่สังกัดนั้นมิได้ชดใช้ให้ ซึ่งในที่นี้ได้ถูกคัดค้านโดยผู้ดูแลกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่พวกตนในฐานะผู้เอาประกันภัยดังกล่าว อันควรจะได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ รวมทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
ฝ่ายผู้ดูแลกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย
โต้แย้งว่า เงินทุกกรณีที่ได้รับมา หรือจะได้รับมาควรรวบรวมจัดสรรเพื่อประโยชน์ของกลุ่มเจ้าหนี้มากกว่า เพื่อประโยชน์ส่วนตนของฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องนั้นเอง
ศาลในคดีนี้
เห็นพ้องกับฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องว่า เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า ให้ความคุ้มครองโดยตรงแก่ฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องในฐานะผู้ได้รับความคุ้มครอง ฉะนั้น จำนวนเงินประกันภัยที่จะต้องจ่ายออกไปเช่นว่านั้นตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท จึงไม่ถือเป็นทรัพย์สินของของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย เพราะเป็นการจ่ายโดยตรงให้แก่ผู้ได้รับความคุ้มครอง มิใช่จ่ายให้แก่บริษัทที่ล้มละลาย
ทั้งเห็นควรให้เพิกถอนเพิกถอนสภาวะการพักชำระหนี้กรณีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้ว จะสร้างความเสียหายอย่างมากให้แก่ฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องในอันที่จะเสียสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ดังกล่าว และไม่ส่งผลเสียแก่ฝ่ายเจ้าหนี้แต่ประการใด เนื่องจากสุดท้ายแล้ว ฝ่ายเจ้าหนี้ซึ่งได้รับชดใช้แทน ก็จำต้องมาจ่ายคืนให้แก่ฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้องตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอยู่ดี
ศาลจึงมีคำสั่งให้บริษัทประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจ่ายเงินล่วงหน้าในส่วนของค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีให้แก่ฝ่ายกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารที่ถูกฟ้อง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี In re: ALLIED DIGITAL TECHNOLOGIES CORP., et al., 306 B.R. 505 (Bankr. D. Del. 2004))
หมายเหตุ
บ่อยครั้งที่เกิดความเข้าใจผิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของกรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารจะสิ้นสุดความคุ้มครองลงทันทีเมื่อบริษัทผู้เอาประกันภัยตกเป็นผู้ล้มละลาย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้อยู่ในเกณฑ์ความคุ้มครอง แบบวันที่เรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (claims made basis) อันหมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะมีผลคุ้มครองต่อเมื่อได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดังกล่าว และได้แจ้งแก่บริษัทประกันภัยแล้ว ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/