วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 212 : รายรับจากค่าเช่า (Rental Income) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) จะคุ้มครองเช่นไร? หากเป็นการเช่าปากเปล่า (oral lease) ไม่ได้กำหนดค่าเช่ากับเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างชัดเจน

 

ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้มีความน่าสนใจตรงประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

 

ก) เจ้าของอาคารผู้ให้เช่าเป็นนิติบุคคลรายหนึ่ง ได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตน รวมทั้งการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้ ภายใต้ข้อกำหนดความคุ้มครองรายรับจากค่าเช่า (Loss of Rental Income) กับบริษัทประกันภัยเจ้าหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า “บริษัทประกันภัย Z” มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2011 – 2012

 

ข) ผู้เช่าอาคารหลังนั้นเป็นนิติบุคคลอีกรายหนึ่ง ได้ทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตน รวมทั้งการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักไว้ต่างหาก ภายใต้ข้อกำหนดความคุ้มครองกำไรขั้นต้น (Loss of Gross Profit) กับบริษัทประกันภัยอีกเจ้าหนึ่ง ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า “บริษัทประกันภัย I” มีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี ระหว่างวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2011 – 2012

 

ค) แม้นระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่ามีสถานะต่างเป็นนิติบุคคลคนละรายแยกจากกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ล้วนเป็นกลุ่มผู้ถือหน้าเดียวกันทั้งสิ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่ง มีเจ้าของเดียวกัน เพียงแต่จดทะเบียนนิติบุคคลต่างกันเท่านั้น

 

ง) สัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าไม่ได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร และมิได้กำหนดระยะเวลาเช่ากับค่าเช่ารายเดือนอย่างชัดเจน อาศัยเพียงการพูดคุยด้วยวาจากันเท่านั้น

 

ต่อมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขึ้นสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ตัวอาคารกับทรัพย์สินต่าง ๆ ที่อยู่ภายใน มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่หลุดรอดจากความเสียหายดังกล่าวไปได้

 

ส่งผลทำให้ผู้เช่าต้องหยุดกิจการทั้งหมดลงกับหยุดชำระค่าเช่าต่อไปด้วย และสุดท้ายผู้เช่าก็จำต้องตัดสินใจเลิกกิจการอย่างสิ้นเชิงในท้ายที่สุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2012

 

ทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่าต่างยื่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่อบริษัทประกันภัยของตน เพื่อให้ชำระค่าสินไหมทดแทน

 

ในส่วนความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัยทั้งสองแห่งตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง กล่าวคือ ชดใช้ความเสียหายแก่ตัวอาคารที่เสียหายให้แก่ผู้ให้เช่า และชดใช้ความเสียหายต่อตัวเครื่องจักรอุปกรณ์กับสต็อกที่เสียหายให้แก่ผู้เช่า

 

คงเหลือประเด็นข้อพิพาทการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเท่านั้นที่ถูกนำเป็นคดีขึ้นสู่ศาลสูง โดยทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่า ดังนี้

 

) ข้อกำหนดความคุ้มครองรายรับจากค่าเช่า (Loss of Rental Income) ของผู้ให้เช่า

 

สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจริง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2012

 

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2012 ได้ซ่อมแซมตัวอาคารนั้นจนเสร็จสมบูรณ์ และได้มีผู้เช่ารายใหม่เข้ามาแล้ว

 

โดยแสดงพยานหลักฐานความสูญเสียรายรับจากค่าเช่าเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 172,762.86 ดอลลาร์แคนาดา ซึ่งมีที่มาจากรายได้จากค่าเช่าต่อเดือน 28,793.81 ดอลลาร์แคนาดา ในช่วงระยะเวลาความสูญเสียรวม 8 เดือนเต็ม (วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2012) หักด้วยส่วนที่บริษัทประกันภัย I ชดใช้จำนวนเงินทดรองล่วงหน้าชั่วคราวบางส่วน (Advance Payment) มาให้แก่ผู้เช่าแล้ว ภายใต้เงื่อนไขพิเศษของการสูญเสียกำไรขั้นต้น  คิดเป็นจำนวนเงินรวม 57,587.62 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณกึ่งหนึ่งของยอดรายรับจากค่าเช่ารวม 8 เดือนเต็ม หรือช่วงระยะเวลาความสูญเสียจริงรวม 4 เดือนนั่นเอง)

 

) ข้อกำหนดความคุ้มครองกำไรขั้นต้น (Loss of Profit) ของผู้เช่า

 

บริษัทประกันภัย I ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญประเมินผลการสูญเสียกำไรขั้นต้นสุทธิออกมาได้เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 300,524.62 ดอลลาร์แคนาดา สำหรับช่วงระยะเวลาความสูญเสียจริงรวม 4 เดือน (3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2012 ณ วันที่ปิดกิจการของผู้เช่า) อันเป็นตัวเลขที่ได้หักค่าใช้จ่ายคงที่ที่ประหยัดได้กับค่าเช่าที่ไม่จำต้องจ่ายอีกต่อไปแล้ว

 

โดยที่ทั้งสองกรณี บริษัทประกันภัย Z คัดค้านว่า ผู้เช่าควรชำระค่าเช่าต่อไปดังเดิมถึงแม้นจะเกิดไฟไหม้ขึ้นมาแล้วก็ตาม เนื่องจากไม่มีสัญญาเช่ากำหนดให้ต้องระงับไปอย่างชัดแจ้ง ภายหลังเมื่อเกิดความเสียหายแก่สถานที่เช่า

 

ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่ศาลสูงจำต้องวินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้

 

1) ผู้เช่ามีหน้าที่จะต้องชำระค่าเช่าต่อไปดังเดิมหลังจากเหตุไฟไหม้หรือไม่?

 

การเช่าอาคารนี้เกิดขึ้นด้วยวาจาโดยไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งผู้ให้เช่ากับผู้เช่าเพียงตกลงค่าเช่ารายเดือนเทียบเท่ากับจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการ (operating expenses) อาคารนี้เท่านั้น ซึ่งจะผันแปรไปในแต่ละเดือน เงื่อนไขอื่นกับระยะเวลาเช่าไม่ได้พูดคุยกันอย่างชัดเจน 

 

คำโต้แย้งของบริษัทประกันภัย Z ที่ว่า สัญญาเช่านี้เสมือนหนึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาเช่า ควรดำเนินต่อไปจนกว่าจะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่นนั้น

 

ศาลสูงไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อพิจารณาจากข้อตกลงค่าเช่ากันเป็นรายเดือน ศาลสูงเห็นว่า  กำหนดระยะเวลาเช่าก็ควรเป็นเดือนต่อเดือนเท่านั้น

 

2) ผู้ให้เช่าได้สูญเสียรายรับจากค่าเช่า อันเป็นผลเนื่องมาจากการหยุดชะงักของธุรกิจที่ได้เอาประกันภัยไว้ของตนหรือไม่?

 

บริษัทประกันภัย Z ยอมรับว่า การสูญเสียรายรับจากค่าเช่านั้นควรได้รับความคุ้มครอง แต่เห็นว่า มีสาเหตุเป็นผลเนื่องมาจากการที่ผู้เช่ามิได้ชำระค่าเช่าต่อไปดังเดิมมากกว่าที่มีสาเหตุมาจากเหตุไฟไหม้โดยตรง

 

ศาลสูงได้วิเคราะห์ว่า

 

2.1) ธุรกิจที่เอาประกันภัยได้ระบุอย่างครบถ้วนถึงการเป็นทั้งเจ้าของอาคารกับผู้ให้เช่าอาคารนั้นแล้ว

 

2.2) การหยุดชะงักของธุรกิจที่เอาประกันภัยนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันมีสาเหตุเพียงเฉพาะมาจากไฟไหม้อันเป็นภัยที่คุ้มครอง

 

2.3) การสูญเสียรายรับจากค่าเช่านั้นเป็นผลเนื่องมาจากการหยุดชะงักของธุรกิจที่ได้เอาประกันภัยไว้ของตนจากสาเหตุไฟไหม้แก่ตัวอาคารที่เอาประกันภัยจนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

 

เมื่อสัญญาเช่าไม่มีข้อตกลงชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร สัญญาเช่าดังกล่าวจึงถือว่า มีกำหนดระยะเวลาเช่าเดือนต่อเดือน มิใช่ไม่จำกัดระยะเวลาอย่างที่บริษัทประกันภัย Z โต้แย้ง อีกทั้ง เมื่อมองเสริมอีกมุมหนึ่ง ประเด็นข้อพิพาทเรื่องการชำระค่าเช่ารายเดือนจะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากมิได้มีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้นมา

 

ฉะนั้น ศาลสูงจึงเห็นว่า การสูญเสียรายรับจากค่าเช่านั้นเป็นผลโดยตรงเนื่องมาจากการหยุดชะงักของธุรกิจที่ได้เอาประกันภัยไว้ของผู้ให้เช่าแล้ว

 

จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ศาลสูงตัดสินให้

 

(ก) บริษัทประกันภัย Z รับผิดชดใช้การสูญเสียรายรับจากค่าเช่านั้นตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นจริง ระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2012 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2012 ส่วนตัวเลขความสูญเสียนั้น ให้พิจารณานำสืบในรายละเอียดต่อไป

  

(ก) บริษัทประกันภัย Z รับผิดชำระส่วนที่บริษัทประกันภัย I ได้ชดใช้จำนวนเงินทดรองล่วงหน้าชั่วคราวบางส่วน (Advance Payment) ให้แก่ผู้เช่าแล้ว ภายใต้เงื่อนไขพิเศษของการสูญเสียกำไรขั้นต้น  คิดเป็นจำนวนเงินรวม 57,587.62 ดอลลาร์แคนาดาคืนให้แก่บริษัทประกันภัย I

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี 224981 Ontario Inc. v. Intact Insurance Company, 2016 ONSC 642 [CanLII])

  

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 211 : การแปลความหมายงานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้เป็นเรื่องการตีความของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) ในประเด็นความหมายของ “งานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work)” โดยมีเรื่องอยู่ว่า

 

เมื่อปี ค.ศ. 2014 ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อรายนี้ได้รับว่าจ้างให้ไปจัดทำความสะอาดกระจกที่ติดตั้งทั้งภายนอก และภายในอยู่ที่ชั้นหนึ่งกับชั้นสองของตัวอาคารพาณิชย์สร้างใหม่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีกระจกที่จะต้องได้รับการทำความสะอาดประมาณจำนวน 2,000 บานด้วยกัน

 

ระหว่างการทำความสะอาด ได้ตรวจพบร่องรอยขีดข่วนตรงพื้นผิวของกระจกรวม 180 บานจากจำนวนกระจกทั้งหมด  

 

ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อรายนี้ได้ยอมรับผิดกับเจ้าของกระจกเหล่านั้น ด้วยการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไปเป็นเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 134,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือเทียบเท่า 4,776,430 บาท)

 

ต่อจากนั้น ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อรายนี้ได้ไปแจ้งเรื่องราวเหตุแห่งความเสียหายนี้ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนชดใช้จำนวนเงินที่ได้จ่ายไปแล้วกลับคืนมาให้ตน ภายใต้ข้อตกลงความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ โดยมองว่า ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นแก่กระจกเหล่านั้นเป็นผลเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อมที่ไม่ได้คาดคิดของสถานที่ดำเนินงานนั้นเอง เพราะระหว่างการทำงาน ปรากฏมีเศษซากซีเมนต์ที่หลุดล่องลอยมาเป็นจำนวนมากจากการใช้เครื่องจักรเลื่อยตัดหินของโรงงานที่อยู่ข้างเคียง จนทำให้เศษซากเหล่านั้นลอยไปติดกระจกที่ถูกทำให้เปียกชื้นเวลาทำความสะอาด ครั้นพอคนงานใช้ไม้คราดหัวยาง (squeegees) ลากกวาดทำความสะอาด จึงส่งผลทำให้ตัวกระจกนั้นเกิดร่องรอยดังกล่าว และตัวคนงานเองก็ไม่ได้ยินเสียงผิดปกติเวลาลากกวาดไม้คราดนั้น เพราะเสียงที่มาจากการทำงานของเครื่องจักรนั้นดังกลบเสียงอื่นทั้งหมด

 

แต่บริษัทประกันภัยได้ตอบปฏิเสธ โดยอ้างว่า แม้มีข้อความเขียนว่า บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินที่คุ้มครอง หากว่า ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้เป็นค่าชดเชย สำหรับการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินแก่บุคคลภายนอก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น (occurrence) ภายในระยะเวลาประกันภัย

 

โดยที่เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นนั้น หมายความถึง อุบัติเหตุ รวมถึงภยันตรายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออย่างซ้ำ ๆ โดยชัดแจ้ง อันเนื่องมาจากสภาวะภยันตรายอย่างเดียวกันนั้นเอง

 

อย่างไรก็ดี เหตุแห่งความเสียหายนี้ได้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วย “งานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work) ซึ่งระบุไม่คุ้มครองถึง ความเสียหายต่อทรัพย์สินซึ่งบังเกิดขึ้นแก่ส่วนใดของอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ หรือผู้รับจ้าง หรือผู้รับจ้างช่วงรายใดกำลังทำงานอยู่ ทั้งโดยตรง หรือโดยอ้อมในนามของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ

 

ทั้งนี้ “งานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work)” หมายความถึง งาน หรือการปฏิบัติงานซึ่งผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ หรือบุคคลอื่นในนามของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อได้กระทำขึ้น และวัสดุ ชิ้นส่วน หรืออุปกรณ์ที่จัดให้มาโดยเกี่ยวข้องกับงาน หรือการปฏิบัติงานดังกล่าว โดยรวมไปถึง ข้อรับรอง หรือการเปิดเผยข้อความจริงที่ได้กระทำขึ้นตลอดเวลา อันเกี่ยวเนื่องกับความเหมาะสม คุณภาพ อายุการใช้งาน ประสิทธิภาพ หรือการใช้ งานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work)ตลอดจนการให้ หรือการละเลยในการให้คำเตือน หรือคำแนะนำต่าง ๆ  

 

เรื่องราวดังกล่าวได้เกิดเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลชั้นต้น และศาลชั้นอุทธรณ์ ในท้ายที่สุด

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อได้ต่อสู้ว่า อันที่จริง เหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นนั้นเป็นผลเนื่องมาจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงเศษซากที่หลุดลอยมาจากการทำงานของเครื่องตัดหินของโรงงานที่อยู่ข้างเคียงด้วยมาบรรจบประกอบกัน จนก่อให้เกิดสภาวะของร่องรอยการขีดข่วนเช่นว่านั้นขึ้นมา อันเป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้คาดคิด ตนจึงควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

กระนั้น ทั้งสองชั้นศาลมีความเห็นสอดคล้องตรงกันว่า ปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังกล่าวอ้างของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อนั้น จัดเป็นเพียงสภาวะการณ์ที่คนงานของโจทก์เลือกที่จะตัดสินใจทำความสะอาดกระจกเหล่านั้น ณ ช่วงเวลานั้นเอง แต่ก็มิใช่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดร่องรอยขีดข่วนขึ้นมา การทำงานด้วยการใช้ไม้คราดหัวยางลากกวาดทำความสะอาดซึ่งเกิดขึ้นโดยความตั้งใจ และความมุ่งหวังของคนงานต่างหากที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว ถึงแม้จะก่อให้บังเกิดผลลัพธ์อันไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวังก็ตาม

 

ถ้าหากว่า คนงานของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อนั้นเลือกตัดสินใจที่จะไม่ทำงานในช่วงเวลาที่มีเศษซากนั้นล่องลอยมาในอากาศ ความเสียหายดังกล่าวคงไม่อาจบังเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินดังกล่าวจึงเกิดขึ้นมาเนื่องมาจากการทำงานเช่นว่านั้นเอง

 

กรณีจึงตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วย งานของผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อ (your work)” ซึ่งไม่ได้มีถ้อยคำที่กำกวมแต่ประการใด

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์มีจุดประสงค์โดยทั่วไปที่จะให้ความคุ้มครองแก่ความรับผิดของผู้เอาประกันภัย สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่บังเกิดขึ้น นอกเหนือจากการปฏิบัติงานของผู้เอาประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะส่วนอื่นของทรัพย์สินเช่นว่านั้นซึ่งได้รับความเสียหายสืบเนื่องตามมา แต่มิใช่ตรงพื้นที่ส่วนที่ทำงานอยู่ของทรัพย์สินเช่นว่านั้น และไม่ได้คุ้มครองรวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมส่วนที่บกพร่อง อันเนื่องจากการทำงานนั้นแต่ประการใด

 

พิพากษาให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยชนะคดี

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี G & P Procleaners and General Contractors Inc. v. Gore Mutual Insurance Company, 2017 ONCA 298 [CanLII])  

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/