วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 158 : การฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Computer Fraud) มีความหมายมากกว่าการแค่เพียงใช้คอมพิวเตอร์กระทำการ?

 

(ตอนที่สาม)

 

ถึงแม้ตอนที่ผ่านมา ได้มีคำพิพากษาศาลเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยว่า การใช้อีเมลมาหลอกลวงฝ่ายผู้เอาประกันภัยให้หลงเชื่อจนถูกโกงในท้ายที่สุดนั้น มิใช่เป็นผลโดยตรงจากเงื่อนไขความคุ้มครองจากการฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ดังที่กล่าวมาแล้วก็ตาม

 

ภายหลังจากคดีนั้น ได้ปรากฏมีคดีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกหลายคดีขึ้นไปสู่ศาล ดั่งตัวอย่างคดีศึกษาต่อไปนี้

 

ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจรายหนึ่งได้รับอีเมลลวงหลายฉบับอ้างเป็นคู่ค้าหนึ่งรายซึ่งติดต่อทำธุรกิจกันอยู่ แจ้งขอเปลี่ยนบัญชีธนาคารที่ติดต่อใหม่ (ซึ่งเป็นของคนร้าย) ในการขอรับชำระเงิน ทำให้ผู้เอาประกันภัยหลงเชื่อจนโอนเงินที่ถึงกำหนดชำระหนี้ให้แก่คู่ค้ารายนั้น (อันที่จริง คือ คนร้าย) ไปผ่านทางบัญชีธนาคารใหม่มีจำนวนเงินรวม 834,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ก่อนที่จะมาตรวจพบภายหลังว่า เป็นการหลอกลวง

 

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน คู่ค้าตัวจริงรายนั้นซึ่งถูกปลอมอีเมลตกลงยินดีช่วยเหลือ สำหรับจำนวนเงินที่ถูกหลอกไปนั้น ให้กึ่งหนึ่ง ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจึงมายื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือกับบริษัทประกันภัยของตน ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองการฉ้อฉลหลอกลวงทางคอมพิวเตอร์ (Computer Fraud Insurance) ที่ได้ซื้อไว้แล้ว 

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยได้อ้างอิงแนวคำพิพากษาคดีของตอนที่ผ่านมา ปฏิเสธความรับผิดว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็มิได้มีสาเหตุโดยตรงจากการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อหลอกลวงเช่นเดียวกัน คนร้ายแค่ทำอีเมลปลอมมาหลอกลวง แต่มิได้ใช้คอมพิวเตอร์มาแฮก (hack) เอาเงินไปโดยตรงตามเงื่อนไขความคุ้มครองเลย

 

คดีนี้ ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัย

 

แต่ศาลอุทธรณ์ไม่คล้อยตาม โดยมองว่า การตีความเช่นนั้นแคบเกินไป หากมีความประสงค์ดังกล่าว ฝ่ายบริษัทประกันภัยก็ควรเขียนถ้อยคำจำกัดเฉพาะเหตุการณ์เช่นว่านั้นอย่างชัดแจ้งลงไปเลย

 

ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า การสูญเสียเงิน (loss) นั้นมีสาเหตุโดยตรงจากการใช้คอมพิวเตอร์ฉ้อฉลหลอกลวงแล้ว โดยไม่คำนึงถึงข้อความจริงที่ว่า ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยเป็นผู้กระทำการโอนเงินนั้นให้หรือเปล่า โดยถือว่า การได้รับอีเมลลวงนั้นเป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนการของคนร้าย จนนำไปสู่ขั้นตอนที่สองในการหลงเชื่อโอนเงินนั้นทางคอมพิวเตอร์ไปให้แก่คนร้ายท้ายที่สุด

 

ฉะนั้น ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยว่า กรณีเหล่านี้เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ฉ้อฉลหลอกลวงโดยตรง จนทำให้บังเกิดความเสียหายโดยตรงแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่กำหนดไว้นั้น และพิพากษาให้ฝายบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

ปัจจุบัน มีแนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศหลายฉบับเสมือนหนึ่งจะออกมาเดินตามแนวทางนี้นะครับ

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี American Tooling Center, Inc. v. Travelers Casualty & Surety Co. of America, No. 17‑2014, 2018, 895 F.3d 455 (6th Cir. 2018))  

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul