เรื่องที่ 139 : แนวคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดแห่งประเทศอังกฤษประเด็นกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด - 19
(ตอนที่สอง)
1.2) ขอบเขตรัศมีของโรคภัยภายในอาณาบริเวณ 25 ไมล์ (40.23 กิโลเมตร)
สำหรับประเด็นว่า จะต้องเป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณรัศมีดังระบุด้วยนั้น
บริษัทประกันภัยบางแห่งยังได้กำหนดรัศมีอาณาเขตความคุ้มครองของโรคภัยที่คุ้มครองเอาไว้ด้วย ซึ่งศาลฎีกาแห่งประเทศอังกฤษเห็นว่า ถ้อยคำที่เขียนเช่นนั้นค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วที่จะจำกัดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้อยู่ภายในบริเวณดังกล่าว
1.3) จัดเป็นกี่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (Occurrence)?
การติดเชื้อโรคของแต่ละคน แต่ละวันเวลา แต่ละเมือง แต่ละแหล่งนั้นไม่อาจสรุปรวมกันได้เป็นหนึ่งเหตุการณ์ หรือเหตุการณ์เดียวกัน (Occurrence) ฉะนั้น ตามถ้อยคำตัวอย่างทั่วไปที่เขียนเอาไว้ จึงหมายความถึง การขยายให้ความคุ้มครองถึงการหยุดชะงักของธุรกิจ อันมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากการติดโรคโควิด – 19 ใดก็ตามที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง (Any Occurrence) ภายในอาณาบริเวณดังกำหนดไว้
2) ความคุ้มครองเพิ่มเติมถึงการปิดกั้น หรือการห้ามมิให้เข้าไปใช้ประโยชน์ (Prevention of Access/Denial of Access)
เงื่อนไขพิเศษที่ขยายความคุ้มครองถึงการหยุดชะงักของธุรกิจอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย ภายใต้ภัยที่คุ้มครองต่อบริเวณรอบนอกสถานที่เอาประกันภัย และ/หรือการมีคำสั่งของเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย (Public Authorities) ในการปิดกั้น หรือการห้ามมิให้เข้าไปใช้ประโยชน์สถานที่เอาประกันภัยได้โดยมีต้นเหตุมาจากโรคโควิด – 19 ซึ่งการปิดกั้น/ห้ามใช้สถานที่เอาประกันภัยนั้นอาจจะทั้งหมด หรือเพียงบางส่วนก็ได้ เป็นต้นว่า การเว้นระยะห่างทางสังคม การประกาศให้ทำงานอยู่บ้าน บางกรณี ประกาศหรือมาตรการของเจ้าพนักงานเหล่านั้นอาจมิได้ถึงขนาดตราออกมาเป็นกฎหมายอย่างชัดแจ้ง หรือโดยเฉพาะเจาะจง
ศาลฎีกาแห่งประเทศอังกฤษเห็นว่า อาจต้องพิจารณาตามข้อความจริงแต่ละกรณีไป เช่นเดียวกับการปิดกั้น/ห้ามใช้สถานที่เอาประกันภัยนั้นไม่จำต้องเป็นทั้งหมด เพียงบางส่วนที่ได้รับผลกระทบก็ได้แล้ว หรือการหยุดชะงักของธุรกิจนั้น ไม่ถึงขนาดต้องหยุดกิจการไปเลย เพียงการได้รับผลกระทบ (Interference) ทางธุรกิจก็สามารถตกอยู่ภายในขอบเขตความคุ้มครองแล้วเหมือนกัน
3) แนวโน้มของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (Trends Clause)
ในการพิจารณาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย สำหรับช่วงระยะเวลาความเสียหาย (Indemnity Period) บริษัทประกันภัยจะอาศัยแนวโน้มของธุรกิจ ความผันแปร หรือสถานการณ์พิเศษทั้งช่วงก่อนหน้า ช่วงระหว่าง ช่วงหลังความเสียหายมาเป็นปัจจัยประกอบด้วย เพื่อค้นหา และประเมินความเสียหายที่แท้จริงที่เกิดขึ้นแก่ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยอันสืบเนื่องโดยตรงมาจากภัยที่คุ้มครอง เช่นกรณีของโรคโควิด – 19 ถึงแม้นผู้เอาประกันภัยคงประกอบธุรกิจต่อไปได้ แต่ผลกระทบทางการเงินยังคงอยู่ไม่ดีเหมือนดั่งช่วงระยะเวลาเดียวกันก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว ทีนี้ผลกระทบทางการเงินจำต้องนำมาวิเคราะห์แยกแยะให้ออกว่า ปัจจัยใดที่ไม่เกี่ยวข้อง/ไม่คุ้มครองบ้าง ก็ให้ตัดออกไป
บริษัทประกันภัยหยิบยกคดีตัวอย่างที่แพร่หลายและเป็นที่ยอมรับมาใช้อ้างอิง คือ กรณีพายุเฮอริเคนพัดถล่มเมืองได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวาง โรงแรมของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายทั้งทางด้านทรัพย์สินกับทางด้านการเงิน เมื่อมีข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางการเงินขึ้นมา ศาลคดีนั้นวินิจฉัยให้คุ้มครองเพียงเฉพาะผลกระทบโดยตรงจากลมพายุเท่านั้น ส่วนผลกระทบจากปัจจัยอื่นให้ตัดออก เพราะไม่เกี่ยวข้องกัน
สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผู้พิพากษาท่านหนึ่งในองค์คณะที่ร่วมพิพากษาได้มีโอกาสมานั่งร่วมวินิจฉัยในคดีนี้อีก โดยครั้งนี้มีผลคำวินิจฉัยไม่เป็นเอกฉันท์ออกมาว่า คดีของลมพายุนั้นน่าจะติดสินไม่ถูกต้อง เพราะการที่เกิดลมพายุพัดถล่ม ไม่ควรนำปัจจัยการสั่งอพยพผู้คนออกไปมาจำแนกให้เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ในทางที่ถูก ควรพิจารณาให้เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับลมพายุมากกว่า
เมื่อศาลฎีกาแห่งประเทศอังกฤษได้วางแนวทางใหม่ออกมาเช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดความฮือฮาทางฝั่งของบริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยต่ออย่างมากมาย เพราะนั่นหมายถึง วงเงินที่จะต้องชดใช้อาจเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาดไว้แต่แรก
แม้แนวทางคำวินิจฉัยคดีต้นแบบนี้จะให้ทั้งผลบวกกับผลลบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ข้อพิพาทของแต่ละคดีล้วนต่างมีข้อความจริงและประเด็นปลีกย่อยแตกต่างกันไป ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ทางคดีเปลี่ยนแปลงไปอีกก็เป็นได้ คงจำต้องรอดูกันต่อไป
(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากคดี Financial Conduct Authority v Arch Insurance (UK) Ltd and others [2021] UKSC 1)
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory