วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เจ้าบ้านสามารถเอาประกันภัยบ้านที่ตนอยู่อาศัยมาทำประกันภัยได้หรือไม่



เจ้าบ้านสามารถเอาประกันภัยบ้านที่ตนอยู่อาศัยมาทำประกันภัยได้หรือไม่

เวลาที่มีโอกาสไปบรรยายตามสถานที่ต่าง ๆ ผมมักจะตั้งคำถามข้างต้นแก่ผู้เข้าอบรม โดยเทียบเคียงกับชีวิตจริงของตนเอง คราวที่พวกเราพี่น้องถูกพ่อส่งให้ทยอยมาเรียนที่กรุงเทพ ช่วงแรกพี่ชายมาก่อน ได้ไปอยู่บ้านญาติ ผมตามมาในปีที่สอง ก็จำต้องไปอยู่โรงเรียนประจำ พอปีต่อมา จะมีน้องตามมาอีก พวกเราเลยร้องขอพ่อให้ซื้อบ้านอยู่ที่กรุงเทพ โดยพ่อก็ตกลงซื้อ และคุยหารือกันว่า ในทะเบียนบ้านที่กรุงเทพจะใส่ชื่อใครเป็นเจ้าบ้าน ถ้าใส่ชื่อพ่อ เขาก็จะต้องย้ายสำมะโนครัวมาอยู่ที่กรุงเทพ ทั้งที่เขายังคงทำมาค้าขายอยู่ที่ต่างจังหวัดดังเดิม พ่อผมจึงสรุปให้ใส่ชื่อพี่ชายเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านที่กรุงเทพแทน คำถามของผม คือ ถ้าพี่ชายผมซึ่งเป็นเจ้าบ้านนำบ้านหลังนั้นมาทำประกันภัยได้หรือไม่

คำตอบที่ได้รับจากผู้รับฟัง แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ได้ เพราะเป็นเจ้าบ้านตามทะเบียนบ้าน อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่ได้ เพราะมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์บ้าน

คำเฉลยในเรื่องนี้ก็คือ คำว่า “เจ้าบ้าน” หมายถึง ผู้ที่ระบุชื่อในทะเบียนบ้านให้เป็นเจ้าบ้านนั้น อาจใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายที่สามารถนำบ้านของตนเองมาทำประกันภัยได้ (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 863 ที่ว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด” 

แต่ถ้าอย่างในกรณีนี้ พี่ชายผมเป็นเพียงเจ้าบ้านหลังดังกล่าวเท่านั้น มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านด้วย พวกผมจึงมีสถานะในบ้านหลังนั้นเพียงเป็นผู้อาศัยเท่านั้น ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับสถานะ เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่  1723/2551ที่พิจารณาว่า “แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย

ดังนั้น ส่วนตัวแล้ว ผมมักจะให้ความสำคัญกับคำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ค่อนข้างมาก ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่มีกฎหมายมารองรับด้วย